โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2566

สรรเพชญ สนับสนุนญัตติ จัดทำประชามติ สอบถามความเห็น ปชช. ต่อการจัดทำร่าง รธน. ฉบับใหม่ ย้ำ ไม่แตะหมวด 1-2 แต่สภาฯ ตีตก ร่างญัตติ ชี้ ผิดหวัง !! เพราะรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ว่าจะทำอย่างเร่งด่วน

 สรรเพชญ  สนับสนุนญัตติ จัดทำประชามติ สอบถามความเห็น ปชช. ต่อการจัดทำร่าง รธน. ฉบับใหม่ ย้ำ ไม่แตะหมวด 1-2 แต่สภาฯ ตีตก ร่างญัตติ ชี้ ผิดหวัง !! เพราะรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ว่าจะทำอย่างเร่งด่วน


          วันนี้ (25 ตุลาคม 2566) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว



          โดย นายสรรเพชญ กล่าวว่า “สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ.2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ” 


          นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า “ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ” 


          อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะ รัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า “ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม”


          นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า “เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที 


          แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว นายสรรเพชญ กล่าวว่า “รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้” 

///

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น