ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว “นิพนธ์” ไม่ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจริยธรรมก็ยังไม่พบการทำผิดกฎหมาย
เมื่อศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจระเบิดขึ้น และมีชื่อนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าวินในช่วงโค้งสุดท้ายด้วย
“ไร้ความรู้ความสามารถ มีพฤติกรรมทุจริต” นี้คือข้อสรุปของข้อกล่าวหาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายนิพนธ์ เข้าใจว่ามีการเตรียมข้อมูลการสมยอมเสนอราคา (ฮั้ว) การจัดซื้อจัดหารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นหนึ่งใน 2-3 ประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไว้ใจนายนิพนธ์
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจนายนิพนธ์ไปแล้วเมื่อครั้งก่อน และหลังการอภิปรายนายประเสริฐพงษ์ ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายนิพนธ์ควรจะลาออก หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และมีหลายคนพยายามเรียกร้องถึงความรับผิดชอบด้านจริยธรรม เพื่อกดดันให้นายนิพนธ์ลาออก หรือพักการทำหน้าที่
ถ้าใครติดตามเรื่องของนายนิพนธ์ต่อเนื่องจะทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า นายนิพนธ์ไม่ต้องพักการทำหน้าที่
นายประเสริฐพงษ์ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร โดยร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(8) หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179(3) ประกอบมาตรา 82 วรรค 1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(9) จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง “ยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกร้องไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรค 2”
ส่วนกรณีเรียกร้องให้ลาออกด้วยการยกจริยธรรมนักการเมือง รวมถึงยกตัวอย่างรัฐมนตรีรุ่นพี่ที่เคยลาออกมาแล้ว
นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เคยกล่าวไว้กรณีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งญาติมาเป็นคณะทำงานว่า "ไม่ผิด เพราะไม่ผิดกฎหมายแล้วถามว่าจะไปผิดจริยธรรมได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมีกฎหมายและระเบียบ อีกทั้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราอะไรทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือใช้ระเบียบแบบนี้มาก่อนที่ผมจะมาเป็น ส.ว.ด้วยซ้ำ"
สรุปง่ายคือยังไม่ผิดกฎหมาย จะผิดจริยธรรมได้อย่างไรนั้นเอง
กรณีของนายนิพนธ์ ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลใดว่า นายนิพนธ์ทำผิดกฎหมาย มีแต่คณะกรรมการ ปปช.มีมติรับคำร้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่(ไม่ใช่ทุจริต) และสรุปสำนวนส่งฟ้องไปยังอัยการ แต่อัยการเห็นแย้งสั่งไม่ฟ้อง เมื่อ ปปช.และอัยการเห็นแย้ง จึงตั้งกรรมการร่วมสองฝ่ายเพื่ออุดจุดอ่อนของสำนวนที่อัยการเห็นว่ามีจุดอ่อนถึง 16 จุด แต่ ปปช.ก็ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาอุดสำนวนได้ ที่ประชุมกรรมการร่วมจึงมีมติไม่ฟ้อง และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด อัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้อง และส่งสำนวนกลับไปให้ ปปช. ซึ่ง ปปช.พิจารณาแล้วเห็นว่าสำนวนแน่นหนา เพียงพอส่งฟ้อง จึงมีมติจะฟ้องด้วยตัวเอง ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ (157)
ส่วนคดีสมยอมเสนอราคาต่อ อบจ.ในการจัดหารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ก็เกิดในสมัยนายอุทิศ ชูช่วย เป็นนายกฯอบจ.สงขลา เพียงแต่มาส่งมอบงานในสมัยของนายนิพนธ์ แต่เกิดมีการร้องเรียนว่ามีการฮั้วประมูล ทางจังหวัดสงขลาจึงสั่งให้ อบจ.สงขลาหาข้อเท็จจริง นายนิพนธ์จึงตั้งกรรมการสอบสวน และชะลอการเบิกเงิน ผลการสอบสวนพบว่า มีการฮั้วจริง ทาง อบจ.สงขลา จึงยังไม่เบิกจ่ายเงิน แบะึแจ้งไปยังบริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ผู้ชนะการประมูลว่า สัญญาเป็นโมฆะ ซึ่งแปลความได้ว่า ไม่มีผลผูกพันใดๆ
กลุ่มบุคคล และนิติบุคคลที่ร่วมกันฮั้วประมูลก็ถูกดำเนินคดีหมดแล้ว ทั้งโดย อบจ.สงขลา และโดย ปปช.เอง เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษจนกระทั้งศาลอาญาทุจริตฯ ภาค 9 ออกหมายจับและผู้ต้องหาก็หลบหนีไปต่างประเทศเกือบหมดแล้ว บางคดีตำรวจก็สรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการแล้ว
ก็ยังไม่รู้ว่า ฝ่ายค้านมีข้อมูลใหม่อะไรของนายนิพนธ์ จึงตั้งข้อหาไร้ความรู้ความสามารถ และมีพฤติกรรมทุจริต ขอเพิ่มเติมว่า งานในภารกิจความรับผิดชอบของนายนิพนธ์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แบ่งงานให้กำกับดูแลกรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนรัฐวิสาหกิจให้ดูแลการประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และองค์การกำจัดน้ำเสีย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น