โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

กยท.ทุ่ม 4 ล้านให้ทุนเรียนป.ตรี

 

กยท.ทุ่ม 4 ล้านให้ทุนเรียนป.ตรี





บุตรชาวสวนต่อยอดนวัตกรรม-แปรรูปยางพารา



กยท.ทุ่ม 4 ล้าน มอบ 10 ทุนการศึกษาให้บุตรชาวสวนยางพารารุ่นแรก คนละ 4 แสนบาท ใน 3 สถาบัน เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการยาง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และแปรรูปยางพารา 2 นักศึกษา ม.อ. ปัตตานีปลื้ม ฝันกลับไปพัฒนาบ้านเกิด



การศึกษาของเยาวชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต่อยอดสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพได้ในอนาคต ไม่ว่าในสายงานอาชีพใดๆ ล้วนแล้วแต่ก็ต้องการบุคลากรที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่มาสานต่อการทำงานให้เพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาวงการยางพาราไทย ที่ต้องการแปรรูปเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ




 อันจะส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพด้านราคา “การยางพาราแห่งประเทศไทย” หรือ กยท. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงมีนโยบายให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ครั้งแรกแก่บุตรเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทั่วประเทศ จำนวน 10 คน




นายวีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร ฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กยท. กล่าวถึงรายละเอียดของสวัสดิการ “ทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง” ว่า




“งบประมาณที่จัดให้ทุนการศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการอื่นๆ ที่จัดให้เกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 49 (5) ซึ่งในต้นปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องในหมวดของสวัสดิการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท. ได้จัดสวัสดิการด้านการส่งเสริมอาชีพ และประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม และเพิ่งจะเริ่มจัดทำโครงการทุนการศึกษากับบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. ที่จะเรียนในระดับปริญญาตรี”

“โดยให้ทุนการศึกษาต่อเนื่อง 4 ปี ปีละ 100,000 บาท จนจบการศึกษา ซึ่งหลักการและเหตุผลของการจัดทำโครงการนี้ คือ ทางกยท. เห็นว่าเรื่องของการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้บุคลากรในอาชีพนั้นๆ ได้สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในเรื่องของอาชีพ เราคาดหวังว่าบุคลากรเหล่านี้จบมาแล้ว จะเข้ามาเป็นส่วนร่วมกับกยท.



 โดยนำโครงการ การวิจัย หรือนวัตกรรมด้านยางพาราที่นักศึกษาได้เรียนรู้มา กลับไปเพื่อพัฒนาอาชีพยางพาราในท้องถิ่นหรือที่ไหนก็แล้วแต่ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ชิ้น เพื่อจะได้ให้เห็นประโยชน์คุณค่าของการร่ำเรียนเรื่องนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ นี่คือวัตถุประสงค์และที่มาของโครงการ”

“ในปี 2563 ผมเขียนโครงการขออนุมัติเพื่อจัดทำโครงการดังกล่าว นำร่องเป็นจำนวน 10 ทุนการศึกษา ทุนละ 400,000 บาท รวม 4 ล้านบาท”

นายวีระพัฒน์ กล่าว และว่า

“นักศึกษาทุนกยท. รุ่นแรกมีสถาบันที่เราคัดเลือกเข้าเรียน 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เลือกนักศึกษา 5 ทุน,  ม.อ.วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี 2 ทุน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 ทุน” 

กระบวนการคัดเลือกเด็กที่จะได้รับทุนการศึกษานั้น จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนของการสอบในภาคทฤษฎี และการสอบสัมภาษณ์ จะมีการกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกไว้อย่างขัดเจนเป็นส่วนๆ ซึ่งนายวีระพัฒน์ อธิบายในส่วนของการคัดเลือกไว้ว่า

“ในหลักการกว้างๆ นี้ ทางกยท. มีความคาดหวังว่า การคัดสรรนักศึกษาที่เข้าเรียน ต้องเป็นนักศึกษาที่มีความเดือดร้อนทางด้านการเงินแต่เรียนดี มีความสนใจที่อยากจะเรียนในเรื่องของอาชีพตนเอง นั่นคือเรื่องยาง เป็นเด็กนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 และต้องการจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทางด้านยางพารา ซึ่งทั้ง 10 คนนั้น จะต้องผ่านการคัดเลือกทั้งการสอบในภาคทฤษฎี และในการสอบสัมภาษณ์”

“ในปี 2563 มีผู้สมัครเข้ารับคัดเลือกจำนวน 26 คน และคัดเลือกเหลือเพียง 10 คน โดยองค์ประกอบในการคัดเลือกคะแนนนั้น จะทำการคัดเลือกคะแนนจากภาคทฤษฎีจำนวน 30% และภาคปฏิบัติอีก 70% โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการออกข้อสอบภาคทฤษฎี รวมถึงเป็นผู้สัมภาษณ์นักศึกษาด้วย”

“และคะแนนสัมภาษณ์ 70% นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นการทดสอบวัดระดับทางด้านความคิด และวัดเรื่องสมรรถนะของผู้ที่จะเข้าเรียน ว่ามีความพร้อมที่จะเข้าเรียนทางด้านนี้จริงหรือไม่ มีความรู้พื้นฐานระดับไหน เหตุผลที่ได้เทน้ำหนักไปทางคะแนนสัมภาษณ์ถึง 70% เพราะ การเข้าไปเรียนด้านเทคโนโลยีการยางและการแปรรูปยาง ค่อนข้างที่จะต้องใช้จิตใจเป็นหลัก ถ้านักศึกษาไม่ชอบก็อาจจะเรียนไม่จบ”

นายวีระพัฒน์ ยังกล่าวถึงเงื่อนไขที่เด็กผู้ผ่านการคัดเลือก จำเป็นต้องปฏิบัติระหว่างการศึกษาไปจนถึงจบการศึกษา ว่า

“กฎเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในทุนการศึกษานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางกยท. มีข้อกำหนดเพียงแค่คนที่ได้รับทุนจะต้องเรียนให้จบภายในกำหนดระยะเวลา 4 ปี และต้องส่งผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมให้กับกยท. หลังจากจบแล้วภายใน 1 เดือน เพื่อจะได้นำงานวิจัยตรงนี้ไปถ่ายทอดภายในระยะ 6 เดือน”

“ในกรณีที่นักศึกษาไม่สามารถเรียนจบหรือถูกรีไทร์ โดยมีปัจจัยที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง ก็จะมีเงื่อนไขสัญญาว่า จะต้องคืนเงินที่เบิกไปแล้วทั้งหมดให้กับทางกยท. ซึ่งตัวสัญญานี้จะต้องผ่านกระบวนการของอัยการ และมีผลทางกฎหมายด้วย”

 

 “รุซดาน”ภูมิใจได้ทุนกยท.-เตินตามฝัน


นายรุซดาน มะลี นักศึกษาคณะเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาจากทางการยางไทย กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับทุนการศึกษาของกยท. มาก่อนที่จะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดให้บุตรของเกษตรกร จึงตัดสินใจสมัคร

“ที่บ้านผมมีสวนยางประมาณ 10 ไร่ ที่ตำบลกรงปีนัง อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา ทั้งพ่อและแม่เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนผมก็ช่วยเหลือทางครอบครัวด้วยในการกรีดยางทุกๆ วันศุกร์ที่ไม่มีการเรียนการสอน และได้นำน้ำยางมาจำหน่าย”

นายรุซดาน มองว่า ด้วยปัญหาราคายางที่ตกต่ำลง ตนจึงมีความคิดที่อยากจะต่อยอดเรื่องของยางพาราในอนาคต

“ปัจจุบันราคายางตกลงมาก ทั้งๆ ที่ในบ้านเราก็มีผลิตภัณฑ์มากมายที่สามารถแปรรูปจากยางพาราได้ ไม่เฉพาะแค่การขายยางแผ่น หรือน้ำยางเท่านั้น จึงมีความคิดที่อยากจะเข้ามาเรียนในคณะเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เพื่อที่จะนำไปต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอนาคต”

นายรุซดาน กล่าว และว่า

“การได้รับโอกาสจากทุนการศึกษาที่กยท. มอบให้นั้น รู้สึกดีใจและประทับใจมากที่เราสามารถทำได้ และด้วยความที่เราต้องการหาทุนการศึกษาเกี่ยวกับทางด้านยางอยู่แล้วจึงทำให้เราค่อนข้างที่จะมีความตั้งใจมากเป็นพิเศษ และเตรียมตัวสำหรับการสอบเป็นอย่างดี พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องยางพาราอยู่ตลอด เมื่อทำสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีคนรอบข้างก็มาแสดงความยินดีกับเราด้วย”

นายรุซดาน กล่าวต่อว่า ตนอยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนรู้และศึกษาให้มากที่สุดเพื่อนำมาพัฒนาหมู่บ้านในอนาคต

 

“นัทฐาภรณ์”หวังจบมาพัฒนาบ้านเกิด


เช่นเดียวกันกับ นางสาวนัทฐาภรณ์ คงมาก นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่กล่าวถึงการได้รับทุนการศึกษา จากสวัสดิการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มาตรา 49 (5) ว่า

“สาเหตุที่ตัดสินใจสมัครทุนการศึกษานี้ ก็เพราะเป็นลูกเกษตรกรชาวสวนยาง อยู่กับยางพารามาตลอดตั้งแต่เด็ก อยากรู้ว่าตัวยางพารานี้สามารถนำไปผลิตหรือแปรรูปเป็นสิ่งอื่นได้อีกบ้างไหม และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ต้องการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน จึงตัดสินใจสมัครทุนการศึกษานี้”

การเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อ ซึ่งจำเป็นต้องสอบชิงทุนดังกล่าว นางสาวนัทฐาภรณ์ กล่าวว่า

“มีการอ่านหนังสือและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสาขาที่จะไปเข้าเรียน ว่าเรียนอย่างไรเรียนเกี่ยวกับอะไร เมื่อเราได้ความรู้ในส่วนนี้แล้วเราจะได้รู้ว่า ควรจะศึกษาตรงไหนต่อบ้าง”

“แม่เป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาต่อด้านเทคโนโลยียางพารา เพราะแม่เป็นชาวสวนยาง อีกทั้งเราเห็นว่าแม่ต้องตื่นมากรีดยางในทุกๆ เช้า ทำให้เรารู้สึกว่าท่านเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก จึงมีความคิดที่อยากจะช่วยแบ่งเบาภาระ เลยตัดสินใจสมัครทุนและจะพยายามนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาพัฒนาในหมู่บ้าน”

โดยทุนการศึกษาที่กยท. ให้มาก็เพื่อที่จะให้เยาวชนได้เรียนรู้ และนำไปพัฒนาเกี่ยวกับยางพาราภายในหมู่บ้านหรือภายในที่ต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนไปถึงระดับประเทศสามารถจะส่งออกไปยังที่ต่างๆ ได้ในอนาคต

“เมื่อเรียนจบแล้ว ก็อยากจะนำความรู้ไปพัฒนาที่หมู่บ้าน ไปสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับหมู่บ้าน และเพื่อที่จะพัฒนายางในหมู่บ้านให้มีคุณภาพมากพอที่จะสามารถส่งออกไปยังที่ต่างๆ ได้”

นางสาวนัทฐาภรณ์ กล่าว

 

นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ลำดับที่

รายชื่อนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาในปี 2563

ชื่อ

เขตพื้นที่

1

นายจุลจักร  เดโช

กยท.เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

2

นายทัพสาร  โชติชุม

กยท.เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

3

นางสาวชไมพร  สุริยา

กยท.เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

4

นางสาวสกุลทิพย์  อยู่สอน

กยท.เขตภาคกลางและภาคตะวันออก

5

นายสรวิชญ์  ช่วยแก้ว

กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง

6

นางสาวอัษฏาพร  จันทร์ทอง

กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง

7

นางสาวจินตา  ลูกเหล็ม

กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง

8

นางสาวนัทฐาภรณ์  คงมาก

กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง

9

นายรุซดาร  มะลี

กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง

10

นางสาวเปรมวดี  รักบรรจง

กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง

 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น