มึนงงกับการศึกษาที่มา สว.ใหม่ สรุปคือมี 200 คน มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน
……
หยิบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาอ่านอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแต่งตั้งพิเศษจาก คสช.ตามบทเฉพาะกาล 250 คน ใกล้จะหมดวาระในช่วงกลางปี 2567 (พฤษภาคม) และสว.ชุดใหม่ที่มาแบบใหม่เป็นสว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แต่จากการอ่านหมวดว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 107 เขียนไว้ซับซ้อนเข้าใจยากถึงที่มาจาก สว.ชุดใหม่ ต้องไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็พอจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ต้องหาผู้รู้ด้านกฎหมายมหาชนมาอธิบายอีกครั้ง
เอาคร่าวๆนะครับว่า ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี
สว. 200 คน เลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้สว.มีแค่ 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง” โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจนจะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.วุฒิสภา)
พ.ร.ป.วุฒิสภา มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม ดังนี้
-กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
-กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
กลุ่มสตรี
-กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
-กลุ่มอื่นๆ
โดยผู้สมัครจะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 14 เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้
มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก,มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก,เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี,เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย “อื่น ๆ หรือในทำนองเดียวกัน” จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย
ที่มา สว. ให้เวียนเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ
ที่มาของสว.ชุดใหม่ เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่านฉลุยก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอเท่านั้น (มาตรา 15) โดยทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้
ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆกัน
ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้
ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป
ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง
ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป
ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)
ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน
ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน
ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆกัน
ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้
ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นสว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร สว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสว. ยกตัวอย่างเช่น นาย ก.เคยเป็นครู ทำงานมาแล้ว 20 ปี อยากเป็นสว. ดังนั้น นาย ก.จึงไปสมัครตามอำเภอที่ตนพำนัก เพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มอาชีพที่ตนเชี่ยวชาญคือกลุ่มการศึกษา เมื่อตรวจคุณสมบัติผ่านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองสามด่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า นาย ก. จะเป็นทั้งผู้มีสิทธิเลือกสว.และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นสว.ไปพร้อมกัน และการที่ 'นาย ก.' จะเป็นสว.ได้นั้น นาย ก.ต้องติด Top 40 ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ถูกเลือกจนกลายเป็น Top 10 ของกลุ่มการศึกษา และเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ได้รับตำแหน่งสว. ในที่สุด
การได้มาซึ่ง สว. ด้วยวิธีการ "คัดเลือกกันเอง" นับว่าเป็นแบบไม่ง้อการเลือกตั้งจากประชาชน โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมืองเพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้สว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’
อ่านทั้งรัฐธรรมนูญ และ พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ก็พอจะประมวลได้แค่นี้ แต่ก็ยังยากจะเข้าใจอยู่ ยังต้องหากูรูกฎหมายมหาชนมาอธิบายคำว่า “กลุ่ม” กับ “สาย” และ “ขั้น”ต่างๆที่เขียนไว้ซับซ้อนไม่น้อย
สรุปง่ายๆคือ สว.มี 200 คน ในขั้นต้นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ค่อยไปเลือกข้ามกลุ่มเมื่อมีการแบ่งสาย ค่อยๆทำความเข้าใจไปครับ
#นายหัวไทร
#ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น