โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565

แลกกันคนละหมัด “ประชาธิปัตย์ ;ภูมิใจไทย

 แลกกันคนละหมัด “ประชาธิปัตย์ ;ภูมิใจไทย 

        


      น่าสนใจยิ่งกับการช่วงชิงฐานทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ถึงขั้น “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลั่นวาจาออกมาแล้วว่า “เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องเกรงใจกัน”


       ที่กล่าวมาต้องการสื่อให้เห็นว่า เกมแย่งชิงพื้นที่ภาคใต้ถูกลากเข้ามาเล่นกันในสภาแล้ว ประชาธิปัตย์จับมือกับเพื่อไทย ให้ถอน พ.ร.บ.กัญชา กัญชา ออกไปปรับปรุงก่อน เพื่อให้ครอบคลุมการควบคุมดูแลดูแลเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงกัญชา กัญชง ต้องการให้กัญชา กัญชง เป็นยาเพื่อการแพทย์อย่างแม้จริง

     ประชาธิปัตย์นำทีมโดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่า กฎหมายของรัฐบาล ฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยต้องคัดค้านอยู่แล้ว จนสภาโหวตให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกไปปรับปรุง แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ร่วมค้านด้วย ย่อมเป็นประเด็นทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจ


“คนที่พูดในสภา ผมฟังแล้วไม่รู้จะเถียงอย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ความจริง เอาการเมืองนำผลประโยชน์ของประชาชน ก็จะเห็นว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวยังคิดได้เลย ใกล้ช่วงเลือกตั้งเลยเอาเรื่องการเมืองมาโยงเพื่อหาคะแนน” อนุทินกล่าว


“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้งที่จะต้องเกรงใจอะไรกัน ก็จะได้ไม่ต้องเกรงใจ” นายอนุทิน กล่าว


สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่ได้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยเฉพาะการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่มีเจตนาที่ต้องการเห็นเนื้อหาในการกำกับควบคุมการใช้กัญชา ให้อยู่ในกรอบที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน เนื่องจากร่างกฎหมายที่รับหลักการ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการแก้ไขโดยเพิ่มเนื้อหาจำนวนมาก จากเดิมมี 45 มาตรา แต่คณะ กมธ. ปรับแก้เพิ่มเป็น 95 มาตรา คือ มีการเพิ่มใหม่ 69 มาตรา และมีการตัดบางมาตราทิ้ง โดยเฉพาะมีบางส่วนที่เห็นว่าอาจจะกำกับดูแลควบคุมไม่ดีพอ เช่น การให้ประชาชนทั่วไปขอจดแจ้งปลูกกัญชาครัวเรือนบ้านละ 15 ต้น ใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน แต่มีการบัญญัติไว้ว่าเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาสุขภาพ แต่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน

“หากไม่ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป อาจทำให้ร่างกฎหมายค้างอยู่ในการพิจารณาของสภา ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบรอบด้านได้ แต่หากถอนออกไปสามารถจะทำให้แก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายได้”

      ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่ในสภายังลามมาถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีบางพรรคการเมืองเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง เหลือ 2% บ้าง 1 % บ้าง 0.50 % บ้าง แต่พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ดอกเบี้ยเป็น 0% คือไม่คิดดอกเบี้ย พ่วงท้าย ไม่มีคิดเพิ่มสำหรับคนผิดนัด ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังด้วย

      เอาเป็นว่าพรรคภูมิใจไทยหาเสียงกับ กยศ.เต็มสูบ เพื่อยกมาเป็นผลงานของพรรค แต่ข้อเท็จจริงเรื่องเงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ริเริ่มขึ้นมาสมัย “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

      มีข้อท้วงติงมากมายกับการแก้กฏใหม่ของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษากับการไม่คิดดอกเบี้ย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับคนผิดนัด มันจะทำให้นักศึกษาที่กู้ยืมเงินไปบางคนขาดระเบียบ ขาดวินัยทางการเงิน คือมีงานทำแล้วก็ไม่จ่าย ไม่หนีไปไหน เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มี ไม่มีคนตามทวงเงินกู้ นายประกันก็ไม่ต้อง อนาคตของเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะเป็นอย่างไร จะขาดสภาพคล่องไหม เมื่อเงินเก่าไม่ไหลคืน รัฐบาลต้องตั้งงบใหม่เข้ากองทุนงั้นเหลอ ยังมีงบบริหารจัดการอีกปีละ 2000 กว่าล้าน จะเอามาจากไหน

     แล้วคนที่มีวินัยทางการเงิน จ่ายครบ ไม่บิดไม่เบี้ยว มันจะเป็นธรรมกับคนเหล่านี้ไหม เข้าใจได้ว่ากฎหมายล่าสมัยก็ต้องมีการปรับปรุง แต่การปรับปรุงแบบ “สุดซอย” แบบนี้มันจะส่งผลกระทบในอนาคต ใครจะรับผิดชอบ ต้องเจียดเงินจากภาษีประชาชนไปโปะทุกปีงั้นเหลอกับการออกนโยบายหาเสียงแบบสุดโต่ง

      ปฐมเหตุของเรื่องความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย มีมานานพอควร แต่ขยายผลมากขึ้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยประกาศจะยึดพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน 15 ที่นั่ง ตั้งแต่ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เดิมเป็นของประชาธิปัตย์ทั้งหมด และประชาธิปัตย์ก็ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ยึดคืนพื้นที่ หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ได้สูญเสียทั้งนั่งหลายพื้นที่ให้กับพรรคภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ

      เมื่อพิจารณาจากสองสามประเด็นนี้ ปมความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย จะยิ่งขยายกว้าง-ลึก ออกไปจนยากจะประสาน ก่อนหน้านี้จะเจ็บลึกกันอยู่ในใจ แต่เวลาเปิดหน้าเปิดตาแลกหมัดกันแล้วแบบไม่เกรงใจต่อกัน

       ยังต้องจับตาว่านโยบายกระจายอำนาจจะเป็นอีกประเด็นในการช่วงชิงการนำ พรรคภูมิใจไทย เคยประกาศเป็นนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ส่วนประชาธิปัตย์เขาก็ยืนยันว่าเป็นเจ้านโยบายกระจายอำนาจมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรค เป็น 1 ใน 10 ของนโยบาย และขยายผลต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง

     ต้องติดตามว่าจะมีพรรคไหนไปไกลสุดโต่ง ประกาศเลือดตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาจจะแค่ยกฐานะเมืองใหญ่ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง อันเป็นการนำร่องไปก่อน แต่ที่แน่ๆ พรรคก้าวไกล ก้าวไปก่อนแล้วกับแนวทาง “ปลดล็อคท้องถิ่น” เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

      นโยบายกระจายอำนาจน่าจะเป็นอีกนโยบายที่เป็นการช่วงชิงความเป็นเจ้าระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย

 #นายหัวไทร #แลกหมัด





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น