นายหัวไทร..จับประเด็น โอนย้าย 3 สนามบิน “อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่”….ใครชุบมือเปิบ ระวังผิดกฎหมาย
ดูแล้วมีอะไรแปลกๆสำหรับการเร่งรัดโอนย้าย 3 สนามบิน คือสนามบินอุดรธานี
สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินนานาชาติกระบี่ จากสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
ไปสังกัดบริษัทการท่าอากาศยานไทย (จำกัดมหาชน) หรือ ทอท. โดยล่าสุด
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม
ได้เรียกประชุมติดตามการดำเนินการในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
(ทอท.) บริหารจัดการท่าอากาศยานใน ความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางวิธีการในการให้
ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. แผน-ขั้นตอนในการโอนย้าย
ซึ่งมีการกำหนดว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในเดือนเมษายนนี้
เดิมการท่าอากาศยานมีแนวคิดจะขอโอนย้ายสนามบินอุดรธานี
สกลนคร ชุมพรและตาก ไปอยู่ภายใต้การบริหารของ ทอท.
แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง สนามบินตาก ชุมพร สกลนคร หายไปจากการขอโอนย้าย
แต่กลับมาสนามบินนานาชาติกระบี่ ที่เพิ่งลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่
ทำอะไรใหม่ๆอีกหลายเรื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มล้นมาจากภูเก็ตมากระบี่
ประเด็นคือการโอนย้ายมีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
เป็นธรรมหรือไม่ การจัดการเรื่องทรัพย์สิน ทั้งอสังหาริมทรัพย์
(ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ด้านสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ด้านบุคลากร
ด้านการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะและด้านงบประมาณ
ไม่ควรลืมว่า กรมท่าอากาศยาน มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ
ส่วนการท่าอากาศยาน แม้จะยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
แต่เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีเอกชนร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
“ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่เสนอ
โดยให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี
และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด” นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าว
ถ้าให้เกิดความเป็นธรรม และโปร่งใส
มีธรรมาภิบาล ควรเปิดให้มีการประมูลหรือเปล่า
เพื่อความเป็นธรรมสำหรับเอกชนรายอื่นที่ประสงค์จะขอเข้าไปบริหารสนามบิน
แต่การมัดมือชกยกให้ ทอท.ซึ่งมีเอกชนร่วมหุ้นอยู่ด้วย
ผลตอบแทนจากกำไรส่วนหนึ่งก็ต้องแบ่งให้ผู้ถือหุ้น
ใครได้ประโยชน์ ใครชุบมือเปิบหรือไม่
3 สนามบินที่กำลังจะถูกชงเข้า ครม.
ในเดือนเมษายนนี้เพื่อโอนย้ายจาก กรมท่าอากาศยาน ไปให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย
จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการ คือ สนามบินบุรีรัมย์ อุดรธานี และกระบี่
น่าสงสัยว่า เหตุใดจึงเปลี่ยนจากสนามบินตาก ชุมพร สกลนคร
มาเอาสนามบินที่ทำกำไรอันดับหนึ่งอย่าง กระบี่ และเป็นสนามบินที่เพิ่งปรับปรุงใหม่
ทย.ลงทุนไปจำนวนมาก และถือเป็นทรัพย์สินของราชการ ออกจาก กรมท่าอากาศยาน ไปมอบให้
ทอท. ซึ่งแม้วันนี้จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่กำไรทั้งหมดไม่ได้เป็นของรัฐ
เนื่องจากอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนแบ่งกำไร 30 เปอร์เซ็นต์เป็นของผู้ถือหุ้น
ไม่ใช่ประเทศชาติและประชาชน
เดิมทีต้นเรื่องนี้เกิดจากข้อสั่งการของ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุค คสช. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561
ให้โอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ไปให้
ทอท.โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบูรณาการเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศ
ให้เกิดแอร์พอร์ตคลัสเตอร์ ครอบคลุม 4 ภาคของไทย เวลาผ่านไป จากสนามบิน 4 แห่ง
เหลือ 3 แห่ง ชื่อของสนามบินสกลนคร ชุมพร และตาก หายไป เพิ่มบุรีรัมย์
และกระบี่เข้ามาแทนที่
สมัยนั้น “ถาวร
เสนเนียม”เป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม
กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน มีนางอัมพวัน วรรณโก เป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานในขณะนั้น
นางอัมพวัน ออกแรงค้านเต็มสูบ ให้เหตุผลว่า จะทำให้ กรมท่าอากาศยาน
ประสบปัญหาการบริหารจัดการ และซ่อมแซมบำรุงรักษาสนามบินอื่นในสังกัด
ที่ต้องพึ่งผลกำไรจากสนามบินกระบี่ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่มาหล่อเลี้ยง
อีกทั้งรัฐจัดงบประมาณมากถึง 6,000 ล้านในปี 2563 เพื่อขยายสนามบินกระบี่ด้วย
หลังแสดงจุดยืนคัดค้านผ่านไปเมื่อวันที่ 22
สิงหาคม ปี 2562 ผ่านไปไม่ถึงเดือน 3 กันยายน 2562 นางอัมพวัน
ถูกโยกจากอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เข้ากรุไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม
หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงคัดค้านจากกรมท่าอากาศยานอีก
ปี 2562 สนามบินกระบี่ มีกำไรเป็นอันดับหนึ่ง
อยู่ที่ 374.66 ล้านบาท ตามด้วยอุดรธานี 47.64 ล้านบาท ส่วนบุรีรัมย์
มีผลประกอบการขาดทุนที่ 12.32 ล้านบาท โดยในส่วนของสนามบินกระบี่
มีผู้ใช้บริการมากถึง 4 ล้านคน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 8 ล้านคน ภายใน 10 ปี
ซึ่งกรมท่าอากาศยาน ก็บริหารงานได้อย่างไร้ปัญหา ประกอบกับรัฐเพิ่งลงทุนเพิ่มไปอีก
6,000 ล้าน ในปีงบประมาณ 2563 จึงมีคำถาม เหตุใดต้องดึงสนามบินกระบี่ไปให้
ทอท.บริหารจัดการ หาก กระทรวงคมนาคม ทำสำเร็จ ผลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
จะกระทบต่อฐานะการเงินของกรมท่าอากาศยาน
และสร้างภาระเพิ่มให้ประชาชนอย่างไรหรือไม่
ข้อสงสัยว่ามีใครคิดชุบมือเปิบจากการโอนย้าย
หรือไม่นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งขณะดำรงตำแหน่ง
เคยทำหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้ทบทวน
โดยการดำเนินการต้องยึดหลักกฎหมาย โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อราชการและสาธารณะ ศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้รอบด้าน
และให้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ บนผลประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน
ยังมีคำถามด้วยว่า
การนำสนามบินที่รัฐใช้งบประมาณลงทุนนับหมื่นล้านบาท ไปให้ ทอท.ที่มีเอกชนถือหุ้น
30 % เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ มีผลประโยชน์ใดทับซ้อนหรือเปล่า
มีเสียงเตือนไปถึงคณะรัฐมนตรีด้วยว่า
หากอนุมัติให้เดินหน้าโอนทรัพย์สินราชการไปเป็นของ ทอท.
ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นเพียงแค่ 70 % อาจถูกฝ่ายค้านซักฟอก
ลามไปถึงถูกยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบสวนด้วย
เสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่ดังก้องขึ้นเรื่อยๆ
จะก้องไปถึงนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เมษายนนี้รู้เรื่องครับ
องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นก็รวบรวมข้อมูล
#นายหัวไทร
#โอน3สนามบิน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น