โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

กยท.ลุยจัดอบรม-สร้างอาชีพเสริม

 

กยท.ลุยจัดอบรม-สร้างอาชีพเสริม



ชาวสวนยางสงขลาตั้งกลุ่ม-ขยายรังผึ้ง

นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อชาวสวนยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรมมีหลายอย่าง รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ทำให้ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ นอกการประกันรายได้ที่รัฐบาลได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว อาชีพเสริมที่เกษตรกรได้ประกอบเพิ่ม ก็จะเป็นส่วนสำคัญอีกด้านที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง




นายวีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร ฝ่ายพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร กยท. เผยว่า ตามพระราชบัญญัติการยาง เงินในมาตรา 49 (5) นั้น คณะกรรมการการยางพาราแห่งประเทศไทย และผู้บริหารกยท. ได้มีนโยบายมุ่งเน้นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราทางด้านสวัสดิการ เพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

“โดยสวัสดิการตามข้อบังคับมี 4 เรื่อง เรื่องแรก คือ การดูแลสวนประสบภัย เรื่องที่ 2 เงินชดเชยในกรณีเสียชีวิต เรื่องที่ 3 การช่วยเหลือดูแลผู้ประสบความเดือดร้อน และเรื่องที่ 4 คือเรื่องอื่นๆ ที่ทางคณะกรรมการกยท. ได้กำหนดขึ้นมาตามกรณีศึกษาของคณะทำงานอนุศึกษาสวัสดิการฯ ที่มีเพิ่มเติมเข้ามา”

“ซึ่งโครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพจัดอยู่ในสวัสดิการส่วนที่ 4 โดยการเพิ่มโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อพี่น้องชาวเกษตรกรสวนยางเป็นมืออาชีพในการทำอาชีพเสริมมากยิ่งขึ้น”

“โครงการนี้ เรามองว่า ปัจจุบันหรือในอนาคต พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง หากมุ่งเน้นแต่เพียงรายได้จากการทำสวนยางก็คงจะไม่เพียงพอในการหาเลี้ยงครอบครัว หรือความมั่นคงทางรายได้ก็จะไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาชีพเพิ่มเสริมเข้ามา ซึ่งการที่เราจะไปส่งเสริมให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรประกอบอาชีพเสริมนั้น สิ่งหนึ่งที่เรากลัว คือ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางไปลงทุนและจะเกิดความล้มเหลว เพราะฉะนั้น แนวคิดของโครงการนี้ที่เกิดขึ้นมา ก็เพื่อต้องการให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความประสงค์ที่อยากจะประกอบอาชีพเสริม ให้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ละ 30 คน ซึ่งทางกยท.จะไปจัดหาวิทยากรเฉพาะทางในเรื่องนั้นๆ มาให้ความรู้ว่าอาชีพนี้ทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ มีวิธีรับมืออย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความล้มเหลวผิดพลาดตามมา”

“โดยโครงการนี้จะมีการจัดอบรมขึ้นเป็นเวลา 2 วัน และในวันที่ 2 จะให้เป็นการดูงานของจริง และมาวิเคราะห์เพื่อนำไปศึกษาต่อ เพื่อประกอบอาชีพต่อยอดจากโครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่ทางเราได้จัดทำขึ้น อีกทั้งทางกยท. ยังมีเงินขวัญถุงให้สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้ารับการอบรมส่งเสริมการประกอบอาชีพ ถือเป็นปัจจัยการผลิตขั้นต้นให้กับพี่น้องเกษตรกร อาทิเช่น หากอบรมเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงไก่ เมื่ออบรมเสร็จสิ้นก็จะมีแม่พันธุ์ไก่ให้กับทางเกษตรกร ซึ่งโครงการนี้ทางกยท. เราก็จะแนะนำเกษตรกรให้ไปต่อยอดในส่วนของเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประเด็นที่เราจะแนะนำก็คือการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเสริมนั่นเอง”

 



นายคณิต ยอดดำ ประธานกลุ่มเเลี้ยงผึ้งบ้านนาปรัง เกษตรกรชาวสวนยางบ้านนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกยท. ไว้ และเข้าร่วมการจัดอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพกับทางกยท. กล่าวว่า ตนมีสวนยางพารา 9 ไร่ เมื่อได้เข้าร่วมการจัดอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพกับทางกยท. เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งแล้ว ได้นำความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพและต่อยอดเป็นอาชีพเสริมให้กับตน

“ผมได้ไปอบรมโครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพกับทางกยท. และได้นำไปต่อยอด ซึ่งสำหรับผมตอนนี้มีการประกอบอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงผึ้ง ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100 กว่าลัง”

นายคณิต กล่าว และว่า

“จุดเริ่มต้นหลังจากการเข้ารับอบรมในโครงการส่งเสริมอาชีพนี้ ทางกยท. ได้นำแม่พันธุ์ผึ้งมาแจกให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมการจัดอบรมเป็นจำนวน 5 ลัง ผมเพียงนำไปตั้งไว้ผึ้งก็เข้ามา และก็ขยายลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งผมตั้งลังแรกไว้ประมาณ 7 วัน โดยในหนึ่งลังนั้น สามารถเก็บน้ำผึ้งได้เป็นจำนวน 6 ขวด และนำมาจัดจำหน่ายในราคาขวดละ 700 บาท”

 “หลังจากเก็บลังแรกได้ จึงตัดสินใจขยายทำลังผึ้งเป็น 100 ลัง ทำให้ในปีนี้สามารถเก็บผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งได้ถึง 100 กว่าขวด โดยใน 1 ปีจะทำการเก็บน้ำผึ้งเฉพาะเดือน 5 ซึ่ง ณ ขณะที่เริ่มทำแรกๆ นั้นขายได้ในราคาขวดละ 600 บาท แต่ ณ ขณะนี้ เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี จึงลดราคาเหลือเพียงขวดละ 400 บาท และโดยส่วนใหญ่จะนำมาจัดจำหน่ายให้กับชาวบ้านทั่วไป เพราะชาวบ้านมั่นใจในคุณภาพของน้ำผึ้ง”

นายคณิต กล่าวว่า การตลาดเป็นจุดอ่อน และเป็นปัญหาของเกษตรกร จึงอยากให้ทางกยท. เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการหาตลาด อยากได้รับคำแนะนำเพิ่มเติม ในกรณีที่ว่าหากมีน้ำผึ้งเยอะๆ จะสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายต่อไปได้อย่างไรบ้าง

“ที่ทางกยท. จัดโครงการอบรมนี้ขึ้นมาในสภาวะที่ราคายางตกต่ำเช่นนี้ เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเดี๋ยวนี้ราคายางก็ถูก หากเราสามารถนำพื้นที่ในสวนยางที่ว่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ ก็ไม่เสียหายอะไร ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับตัวเราเองไปด้วย”

 



เช่นเดียวกับ นายทำนุ ทองสังข์ เกษตรกรชาวสวนยางพาราอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ที่ได้ผ่านการจัดอบรมการส่งเสริมอาชีพมากับทางกยท. ในเรื่องเลี้ยงผึ้ง กล่าวว่า ภรรยาได้ขึ้นทะเบียนกับกยท.ไว้ เมื่อประมาณปี 2558 - 2559 และได้เข้าร่วมโครงการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพกับทางกยท. นั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2561

นายทำนุ เผยว่า สาเหตุที่คิดจะประกอบอาชีพเสริมขึ้น เพราะราคายางตกต่ำลง ทำให้รายจ่ายในครอบครัวไม่เพียงพอ

“การเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริมที่ถือว่ามีส่วนช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เป็นอย่างมาก เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก”

“ผลผลิตที่ได้ต่อ 1 ลังนั้นได้น้ำผึ้งประมาณ 3 ขวด โดยประมาณ ผมได้นำไปจำหน่ายในราคาขวดละ 500 บาท แม้จะไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดเดือน แต่ก็ยังสามารถสร้างมูลค่าต่อครั้งได้ถึง 30 ขวด ประมาณ 15,000 บาท สามารถนำเงินในส่วนนี้มาช่วยเหลือครอบครัวได้ในช่วงที่ราคายางตกต่ำลง”


นายทำนุ กล่าว และว่า

“รู้สึกดีมากที่กยท. จัดโครงการนี้ขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่ค่อยจะมีการส่งเสริมในด้านการอบรมเรื่องอาชีพเสริม โดยส่วนใหญ่จะเป็นการอบรมเกี่ยวกับเรื่องการปลูกยางพารา ซึ่งตอนนี้มีการส่งเสริมหลายอย่างให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ทางกยท. ให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวสวนยาง”

ขอเชิญร่วมติดตามข่าววงการยางพารา



ขอเชิญร่วมติดตามข่าววงการยางพารา LINE : https://lin.ee/D4Irh1G Facebook : https://bit.ly/2YytPwR

ขอเชิญร่วมติดตามข่าววงการยางพารา LINE : https://lin.ee/D4Irh1G Facebook : https://bit.ly/2YytPwR

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น