โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567

บุญบั้งไฟเดียว1ในภาคใต้ที่นราธิวาสเด้อ (มีคลิป)

 บุญบั้งไฟเดียว1ในภาคใต้ที่นราธิวาสเด้อ (มีคลิป)




 เสียงฟู่ควันก้อนใหญ่ที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า นี่คือประเพณีงานบุญบั้งไฟ 1 เดียวในภาคใต้ ที่ริมตะเข็บชายแดนไทยมาเลเซีย ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่เป็นประเพณีแท้ของคนภาคอีสาน ที่ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 45 บุญบั้งไฟที่นี่มีถิ่นกำเนิดจากฝีมือของคนภาคอีสานแท้ๆ ทั้งวิธีการทำบั้งไฟขบวนแห่บั้งไฟ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีสร้างความสนุกสนาน ที่เป็นมนต์เสน่ห์งานประเพณีดั้งเดิมที่สวยงามตระการตา ทั้งยังเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่คนในภาคใต้หาดูยาก โดยจุดประสงค์ของงานบุญบั้งไฟของคนภาคอีสานโดยแท้ คือการบูชาพญาแถนหรือเทพแห่งฝน เพื่อต้องการให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล

 นางจิราพร นกพรม ซึ่งเป็นสมาชิกบั้งไฟค่ายพิณพาเพลิน กล่าวว่า ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณี 1 เดียวในภาคใต้ เราชุมชนคนอีสานย้ายถิ่นฐานมาอยู่ เกิดความเหงาอยากกลับบ้าน ทำอย่างไรเพื่อระลึกถึงประเพณีทางภาคอีสานก็ต้องบุญบั้งไฟ ในอดีตเรามาอยู่ที่นี้นานกว่า 40 ปี บางคนมาตั้งแต่ พ.ศ.2523 หรือ พ.ศ.2524 ดั้งเดิมก็คือคนอีสานที่มีฐานะยากจนอพยพมาอยู่ จากนั้นประเพณีบุญบั้งไฟก็สืบทอดกันมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่นจากพ่อสอนลูกจากลูกสอนหลานต่อเนื่องกันมา กลายเป็นกิจกรรมที่นิยมขึ้นชื่อของอำเภอสุคิริน เป็นจุดขายในปฏิทินท่องเที่ยวของ จ.นราธิวาส ซึ่งตรงกับสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนในทุกๆปี


 งานบุญบั้งไฟยังเป็นการกลับมารวมกลุ่มของคนอีสานตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนถึงรุ่นหนุ่มสาว ในเขตนิตมสร้างตนเองในโครงการพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนคนอีสานซึ่งอาศัยอยู่จำนวนกว่า 2,000 ครัวเรือน และอยู่ท่ามกลางไทยพุทธมุสลิมจนกลายสภาพเป็นสังคมพาหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 การจุดบั้งไฟที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนกับทางภาคอีสานแท้ๆ แต่ไม่แตกต่างกันมากนัก ถือว่าเป็นความภูมิใจของคนชุมชนอีสานพลัดถิ่น ที่ถือว่าได้ร่วมกันสืบสานและสืบทอดประเพณีร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน มีการจัดตั้งเป็นค่ายที่ปีนี้มีบั้งไฟมากกว่า 18 ค่าย เข้าร่วมกิจกรรมเหมือนในทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละค่ายจะมีสูตรจำเพาะ หรือ สูตรลับในการทำบั้งไฟ ที่ได้มีการนำข้อผิดพลาดนำไฟพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้บั้งไฟของแต่ละค่ายขึ้นสู่ท้องฟ้าและตกลงมายังพื้นใช้เวลานานที่สุด

 เราจึงได้ถือโอกาสไปดูการทำหรือผลิตบั้งไฟจากฝีมือของคนอีสานแท้ๆ ที่อาศัยอยู่อยู่ในพื้นที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นของบั้งไฟค่ายพิณพาเพลิน ซึ่งมีนายคำภา จำปาศิริ เป็นหัวหน้า พร้อมสมาชิกรวม 5 คน เริ่มแรกตั้งมีการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์หลักๆ คือ ดินปะสิว ถ่าน ดินสุพรรณ ขี้เถ้า ท่อพลาสติก พี.วี.ซี. ไม้ไผ่และไม้ปิดรูเมื่อวัสดุอุปกรณ์ครบถ้วนให้ทำการคลุกเคล้าดินประสิว ถ่าน ดินสุพรรณและขี้เถ้าให้เข้ากัน นำไปใส่ในท่อ พี.วี.ซี.ที่เตรียมไว้ ด้วยการนำท่อ พี.วี.ซี.ไปวางลงในแท่นเครื่องอัดไฮดอลิค แล้วใส่ส่วนผสมของวัสดุอุปกรณ์ที่คลุกเคล้ากันลงไป อัดด้วยแท่นอัดไฮดอลิคจนเต็มกระบอก แล้วใช้ไม้ที่เตรียมไว้ปิดรูปิดหัวท้ายให้แน่น จากนั้นนำไปขึ้นแท่นใช้กระดาษฟอยล์แปะปิดทับท่อ พี.วี.ซี. แล้วนำไม้ไผ่ที่ใช้ทำเป็นหนวดกุ้งวางผูกติดหรือยึดไว้กับท่อ พี.วี.ซี.แล้วใช้ไม้ไผ่ที่ทำเป็นหางผูกยึดกับหนวดกุ้งให้แน่นหนา ที่ใช้สำหรับเป็นตัวประคองให้บั้งไฟไปตามวิถีที่ต้องการ โดยท้ายของบั้งไฟจะใส่ดินประสิวเพื่อเป็นตัวจุดชนวนของบั้งไฟ ซึ่งเป็นกระบอกการทำบั้งไฟแต่ละอันซึ่งจะใช้เวลาในการทำประมาณ 2 วัน

  นางจิราพร นกพรม ซึ่งเป็นสมาชิกบั้งไฟค่ายพิณพาเพลิน กล่าวเพิ่มเติมว่า บั้งไฟใช้เวลาทำจริงๆมันทำหลายบั้ง ถ้าทำบั้งเดียวทั่วไปอย่างน้อยก็ประมาณ 2 วัน แต่ว่าเราไม่ได้ทำทีละบั้งเราจะทำร่วมกัน

 ซึ่งงานประเพณีบุญบั้งไฟ 1 เดียวในภาคใต้ที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ในทุกๆปีนี้จะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน หากพลาดกิจกรรมอันดีงามและเป็นมนต์เสน่ห์ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน ท่านสามารถเดินทางมาชมงานที่ตระการตาได้ในปีถัดไปเด้อครับ





ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น