โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2567

เชิญร่วมบุญใหญ่เทศบาลปีใหม่ไทย “ปลูกจาก-ปล่อยปลาดุกลำพัน-กุ้งก้ามกาม” เป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (มีคลิป)

 เชิญร่วมบุญใหญ่เทศบาลปีใหม่ไทย “ปลูกจาก-ปล่อยปลาดุกลำพัน-กุ้งก้ามกาม” เป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (มีคลิป)

                                                       





นายเฉลียว คงตุก อดีตบรรณาธิการคมชัดลึก กรรมการมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ และรองประธานสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมมหากุศล เนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ ปีใหม่ไทย กับโครงการ “หิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก ปี 2” และโครงการลำพันคืนถิ่น ป่าพรุควนเคร็ง ครั้งที่ 9


ด้วยการเข้าร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดลงสู่ธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500,000 ตัว เช่น พันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งก้ามกามปลาดุกลำพัน และปลูกต้นจาก เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์จากการถูกทำลาย


นายเฉลียว กล่าวว่า โครงการปลูกจาก “หิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก” มีเป้าหมาย ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง รักษา และขยายพันธุ์พืชประจำถิ่นอย่าง “ต้นจาก” สร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำ เนื่องจากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ต้นจากถูกทำลายลงไปมากจากการขุดลอกคูคลอง จึงจำเป็นต้องปลูกเพิ่มปริมาณ ขยายพื้นที่เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ต้นจาก


นายเฉลียว กล่าวว่า สำหรับการปลูกจากปีนี้ตั้งเป้าไว้ 2567 ต้น (ตามปีพุทธศักราช 2566 หรืออาจจะเพิ่มขึ้น ตามจำนวนเงินบริจาค)

-พันธุ์จากซื้อมาจากบ้านขนาบนาก อ.ปากพนัง สั่งพันธุ์จากแล้ว ราคาต้นละ 8 บาท จำนวน 2567 ต้น (ไม่ใส่ถุง ถ้าใส่ถุงต้นทุนจะสูงขึ้นเป็นต้นละ 15 บาท แต่ประโยชน์เพิ่มมีน้อย จึงไม่จำเป็น)

-ปลูกวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน เวลา 13.00 น. ที่บ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีฯ


นายเฉลียว กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้นอกจากปลูกจากแล้ว ทางทีมงานภาคีเครือข่ายเสนอให้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำด้วยในวันเดียวกัน ทางคณะจึงให้สืบสานต่อการปล่อยปลาดุกลำพันด้วย ตามโครงการลำพันคืนถิ่น และขอความอนุเคราะห์พันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งก้ามกามจากกรมประมงมาปล่อยด้วย


นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นคนถิ่นเดิม บ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ ผู้ร่วมผลักดันโครงการฯ กล่าวว่า เป้าหมายของการปล่อยปลาดุกลำพัน เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาดุกลำพันไว้ ซึ่งที่ผ่านมาได้สูญพันธุ์ไปจากป่าพรุควนเคร็งแล้ว ที่สำคัญคือ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของคนลุ่มน้ำปากพนัง

“เราจัดหาพันธุ์ปลาดุกลำพันมาจากพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ซึ่งภาคีเครือข่าย องค์กรแนวร่วมได้ปล่อยปลาดุกลำพันมาแล้ว 8 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 9 แล้ว“


นายประจวบ กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 เป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง กรมประมงได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดหาพันธุ์ปลาดุกลำพัน มาปล่อยในพื้นที่สุราษฏร์ธานี นครศรีฯ และสงขลา 2.1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อ พรบ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ ภาคการปฏิบัติก็เริ่มทำงานแล้ว มีการประชุมกำหนดแผนปฏิบัติการ เพื่อจัดหาพันธุ์ปลาดุกลำพัน และร่วมกับประชาชน ภาคประชาสังคมในการกำหนดพื้นที่ และวางแผนงาน


นายเฉลียว กล่าวเสริมว่า สำหรับคนที่ประสงค์จะเลี้ยงปลาดุกลำพัน ขอให้ศึกษาธรรมชาติของปลาพันธุ์นี้ให้ละเอียดก่อน เพราะไม่งั้นเขาก็จะไม่รอด

”ปลาดุกลำพันเป็นปลาน้ำกร่อย อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าพรุ กินพืชเป็นอาหาร แต่บางครั้งถ้าไม่มีอะไรกิน ก็กินเนื้อบ้าง อาหารหลักของปลาดุกลำพัน คือลูกเตียว และลูกเสม็ดชุน“


นายเฉลียว กล่าวอีกว่า เวลานี้นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีต สส.นครศรีฯ กำลังทดลองเลี้ยงปลาดุกลำพันในพื้นที่บ่อขุด ด้วยการปรับสภาพน้ำ ปรับพื้นที่บ่อให้เหมือนป่าพรุ สองปีที่ผ่านมา นำปลาดุกลำพันมาทดลองเลี้ยงแล้วเกือบ 100 กิโล ปรากฏว่า เขาปรับตัวได้ดี เจริญเติบโต เริ่มกินอาหารเม็ดที่ศูนย์นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืนผลิตเอง

”ใครสนใจอยากจะทดลองเลี้ยงปลาดุกลำพัน อยากให้ไปศึกษาหาความรู้จากศูนย์นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืน อ.จุฬาลงกรณ์ จ.นครศรีฯ นายอาญาสิทธิ์ยินดีให้ความรู้ ให้ข้อมูล“


องค์กรร่วมสนับสนุนการจัดงานทั้งสองกิจกรรม

-สมาคมชาวนครศรีธรรมราช ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

-สมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ -มูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ 

-ภาคีเครือข่ายคนรักป่าพรุควนเคร็ง 

-กลุ่มมองเมืองคอน

-งบประมาณดำเนินการ 100,000 บาท (โดยประมาณ)

 

ร่วมสนับสนุนทั้งสองโครงการได้ด้วยการบริจาคผ่านบัญชีเฉลียว คงตุก ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 433-016817-4 เรายังขาดงบอยู่อีกเพียงเล็กน้อย

    

……

สารพัดประโยชน์ของจาก

-น้ำตาลจาก ปรุงอาหารให้รสขาดอร่อย

-น้ำส้มจาก แกงส้มใส่น้ำส้มจาก

-น้ำส้มจาก จิ้มปลาช่อนจี(หรอยคาด)

-แกงกะทิใส่หัวจากกับไก่บ้าน/ไก่เถือน

-หัวจากดอง

-ใบจาก ดูดยาใบจาก

-ไวน์จาก

-ขนมจาก

-ขนมลานิ่มใส่น้ำตาลจาก

-ตะกร้าสานจาก

-เขียงหม้อก้านจาก

-ตั๊กแตนสานใบจาก

-ที่พักโฮมสเตย์ ที่ประชุมสัมนาหลังคามุงจาก

-สาด(เสื่อจาก)

-ภาพวิถีชีวิตไร่จากใส่กรอบรูปด้วยทางจาก

-นั่งเรือดูปลาในป่าจาก(ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ)

-ปล่อยปลาในป่าจาก(นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม)


 ขอบคุณผู้ให้ความร่วมมือ ผู้สนับสนุนทุกท่านทั้งในส่วนของทุนทรัพย์ แรงกาย แรงใจ เป้าหมายฟื้นระบบนิเวศน์ของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน

 #ปลูกจาก

 #ลำพันคืนถิ่น

 #นายหัวไทร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น