“ทวี” ตั้งเป้า 100 วัน ลุยแก้ยาเสพติดทุกมิติ “กม. DSI-ฟอกเงิน” ฟัน!
“พ.ต.อ.ทวี” ตั้งเป้า 100 วัน ลุยแก้ปัญหายาเสพติดครบทุกมิติ ทั้งสกัดกั้น ป้องกัน ปราบปราม ดำเนินคดี ยึดทรัพย์ จัดการพวกฟอกเงิน เล็งใช้กฎหมายดีเอสไอร่วม ย้ำตั้ง ”ศูนย์บัญชาการสกัดกั้น-ปราบปราม” ประสานการข่าวกับประเทศเพื่อนบ้าน ซักซ้อมความเข้าใจทุกหน่วย บูรณาการไปด้วยกัน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเดินทางไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราบ และแก้ไขยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ สำนักงาน ป.ป.ส. ที่ห้องประชุมสุวิทย์ ศักดานนท์ อาคาร 3 ชั้น 5 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลก็คือ ต้องการเห็นผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายใน 1 ปี โดยกปัญหายาเสพติดต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นหรือเชื่อว่าได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อมีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ออกมา ผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้ที่มีผลประโยชน์กับยาเสพติดก็จะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีการประชุมสัมมนาทำความเข้าใจ ก็ไม่ตามไม่ทันกลุ่มผู้ค้าหรือผู้มีผลประโยชน์กับยาเสพติด
“เนื่องจากกฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ในขณะผู้ร่างในสภาผู้แทนราษฎรไม่มีใครขัดแย้งสักคน และมองว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ เพราะเราจะเห็นว่าแม้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดคดีต่างๆ มายกร่างกฎหมาย ข้อบังคับ แต่ผู้กระทำความผิดก็จะพัฒนาไปด้วย ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการสัมมนา และได้มองเห็นแนวนโยบายที่ได้วางไว้ นำไปสู่การปฏิบัติ อย่างน้อยใน 100 วันแรกที่จะเริ่มในการปฏิบัติ โดยเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค.66 เพื่อให้เห็นการแก้ไขยาเสพติดในทุกมิติ อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างน่าพอใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
พ.ต.อ.ทวี ขยายความต่อว่า ใน 100 วันแรก สิ่งแรกก็คือ จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการสกัดกั้น ปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์” เพื่อไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในประเทศ
เรื่องที่ 2 ก็คือ จะมีการประสานงานด้านการข่าวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นเอกภาพในการสกัดกั้น โดยกำหนดพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ก็คือ 15 อำเภอ แบ่งเป็นภาคเหนือ 11 อำเภอ และภาคอีสาน 4 อำเภอ ถ้าเราได้มีการสกัดกั้นตามพื้นที่เหล่านี้ หวังว่ายาเสพติดจะเล็ดลอดเข้ามาได้น้อย หรือไม่สามารถเข้ามาได้เลย ซึ่งในการสกัดกั้นเราต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือน พร้อมทั้งปลุกประชาชนให้เป็นนักต่อสู้ ไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาได้
ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ขั้นตอนการลำเลียงยาเสพติด ถ้ามีข้าราชการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นเข้าไปมีผลประโยชน์ร่วม จะต้องมีมาตรการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยเราจะใช้ข้อมูลของทาง ป.ป.ส. และสุดท้ายกำไรจากการขายยาเสพติด ซึ่งสูงมาก มันจูงใจ เราต้องใช้มาตรการด้านทรัพย์สิน โดยการยึดทรัพย์ในการดำเนินคดี และการฟอกเงินทั้งในและต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และในบางเรื่องก็อาจจะต้องใช้กฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้ามาร่วมในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น