“ประชาธิปัตย์เข้าใจ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี”
นิพนธ์ ชู ยุทธศาสตร์ “ความมั่นคงด้านอาหาร” หวัง เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งไปสู่พื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ปชป.ปลายด้ามขวาน ฯ
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผอ.เตรียมการเลือกตั้งพรรคฯ ร่วมเวทีเปิดตัวสมัคนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ปลายด้ามขวานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา พร้อมทั้งปราศรัยบนเวที “77 ปี พรรคประชาธิปัตย์ รากฐานของการพัฒนาคน พัฒนาชาติ” โดยมีมวลชนร่วมฟังกว่า 2,500 คน
นายนิพนธ์ กล่าวบนเวทีฯตอนหนึ่งว่า ตลอด 77 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ นั้น ได้ดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์อย่างมากโดยเริ่มตั้งแต่เด็ก อย่างนโยบายนมโรงเรียน อาหารกลางวัน เพื่อเสริมสร้างโภชนาการ นโยบายเรียนฟรี 12 ปี จนถูกนำไปบรรจุในรัฐธรรมนูญ ขยายโรงพยาบาลสู่อำเภอ ยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ. สต.โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย ฯลฯ
นอกจากนี้ ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น สาธารณูปโภคต่างๆ ฃยายถนนสี่ช่องจราจรออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ก็มีการจัดสรรงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ในสมัยท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้วางรากฐานการพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชาติให้เจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น มีข้อได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรมาก มีทั้งพืชพรรณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เราสามารถนำไปพัฒนาเพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้นได้ รวมถึงเรามีความพร้อมในเรื่องสถาบันการศึกษาที่มีครบทุกจังหวัดที่สามารถจะยกระดับองค์ความรู้ต่างๆให้สูงขึ้นไปอันนำไปสู่การสร้างรายได้ให้พื้นที่ แต่ขณะเดียวกันปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างของพื้นที่นี้คือปัญหาความยากจน ที่เกณฑ์รายได้ประชาชนอยู่ระดับต่ำ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เห็นทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง
และโอกาสของพื้นที่นี้และเข้าใจชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี วันนี้ประชาธิปัตย์จึงชูยุทธศาสตร์ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะครอบคลุมทั้งหมดในภาคการเกษตรที่มีความโดดเด่นในเรื่องสายพันธุ์พืช ผลไม้ ประมง ปศุสัตว์ ที่รสชาติที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นำไปสู่การต่อยอดในภาคธุรกิจ สร้างเงิน สร้างรายได้ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งการพัฒนาต่างๆต้องดำเนินควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีความมุ่งหวังเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”
////
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น