โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

นายหัวไทร ..จับตามอง.. เมืองเก่าสงขลา “ถนนเก้าห้อง-นครนอก-นครใน” มรดกอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้

นายหัวไทร ..จับตามอง.. เมืองเก่าสงขลา “ถนนเก้าห้อง-นครนอก-นครใน” มรดกอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ 


      คงไม่เขียนถึงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนเอาผิดกับคนบุกรุกเมืองเก่าสงขลา จะสาวถึงนักการเมืองท้องถิ่น หรือระดับชาติ ก็ติดตามจากข่าวรายวัน แต่ #นายหัวไทร ต้องการให้ข้อมูลความเป็นเมืองเก่าของสงขลาที่ควรอนุรักษ์ไว้มากกว่า

สองตอนที่แล้วเขียนถึง “เมืองเก่าสงขลา” ที่เป็นเมืองเก่าจริงย่าน “เขาแดง-หัวเขาแดง-วัดน้อย-ป้อมปราการ” ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามกับเมืองสงขลาในปัจจุบัน อยู่ฝั่ง อ.สิงหนคร

       ถ้าพูดถึงเมืองเก่าสงขลาแล้วไม่กล่าวถึงย่านถนนนครนอก นครใน นางงาม ก็จะไม่ครบถ้วนความเป็นเมืองเก่าสงขลา 

สงขลาเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล

กล่าวสำหรับเมืองสงขลา เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ เป็นเมืองเก่าแก่แต่โบราณ ที่มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ จึงมีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย อีกทั้งยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากบรรพชนคนแต่แรก ดังที่กล่าวไว้แล้วในการเขียนในสองตอนแรก

สงขลา มีการกบ่าวกันว่า เดิมคนไทยเรียกว่า “เมืองสทิง” สันนิษฐานกันว่า ชื่อ “เมืองสงขลา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหลา” ที่แปลว่าเมืองสิงห์ อันเป็นชื่อ ที่พ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดียใช้เรียกในอดีต เนื่องจากได้แล่นเรือเข้ามาเห็นเกาะหนู-เกาะแมวจากระยะไกลๆ มีลักษณะคล้ายสิงห์ 2 ตัว นอน หมอบตรงปากอ่าวทางเข้าเมือง จึงตั้งชื่อเมืองตามนั้น หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า คำว่า “สงขลา” มาจากคำว่า “สิงขร” ที่แปลว่า “ภูเขา” เนื่องจากเมืองสงขลาเดิมตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ตั้งอยู่เชิงเขา เมื่อพ่อค้าชาวมลายูเดินทางเข้ามาค้าขายได้ออกเสียงเพี้ยนเป็น “เซ็งคอรา” และต่อมาเมื่อชาวตะวันตกเข้ามาก็ออกเสียงเพี้ยนเป็น “ซิงกอรา” (singora) จากนั้นจึงค่อยๆเพี้ยนเป็นคำว่า “สงขลา” ดังในปัจจุบัน



กล่าวเฉพาะเมืองเก่าสงขลาย่านถนนนครนอก นครใน นางงาม ปัจจุบันย่านเมืองเก่าสงขลากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามตึกรามบ้านช่องที่มีมาตั้งแต่สมัย ยุครัชกาลที่ 3 มีทั้งแบบจีนโบราณและบ้านเรือนต่างๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในยุคต่างๆ ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ย่านเมืองเก่าสงขลามีถนนสายหลักสำคัญ 3 เส้น คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ซึ่งในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้และร้านอาหารต่างๆมากมาย เข้าไปในย่านนี้จะต้องหาอาหารอร่อยๆทานกันเป็นแหล่งอาหารฝีมือแบบดั่งเดิมที่หากินได้ยากแล้ว แต่มีให้ลิ้มชิมรสย่านนี้ เช่น ข้าวสตู   ข้าวต้มนางงาม เถ้าคั่ว และอีกมากมาย

        ร้านอาหารรับแขกบ้านแขกเมือง หรือร้านที่เถ้าแก่สงขลาไปกินกัน คือ ร้าน “แต้” ร้านอาหารรับแขกบ้านแขกเมืองที่แน่นทั้งมื้อเที่ยง และเย็น เน้นไปที่อาหารไทย-จีน แบบฉบับแต้จิ๋วที่ได้ผสมผสานรสปักษ์ใต้เข้าไปเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นอาหารจึงรสจัด เผ็ดร้อนถึงเครื่องแกง ถูกปากมาก ใครโชคดีก็จะได้กินกุ้งแม้น้ำสดๆจะทะเลสาปสงขลา ยำมะม่วงเบาไม่ปอกเปลือก ใส่มะพร้าวคั่ว ช่องท้องปลากระพงนึ่งมะนาว เป็นต้น


      บ้านเรือนของชาวบ้านยังเก็บรักษาการสร้างแบบจีนโบราณไว้ครบถ้วย กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องอย่างหนา และมุงถึง 2 ชั้น 3 ชั้น เพื่อกันความร้อน เดินเข้าไปในบ้านจะสัมผัสได้ถึงความเย็น

พูดถึงย่านเมืองเก่าสงขลาย่านนี้แล้ว จุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจมากที่สุด คือ street art ที่เนรมิตขึ้นมาใหม่จากช่างศิลป์ ผสมผสานกับผนังบ้านเข้ากันอย่างกลมกลืน แฝงวิถีชีวิตและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยได้มาเยือนย่านสงขลาเมืองเก่าสงขลาแล้ว และที่ไม่ควรพลาดก็คือโรงสีแดง (หับ โห้ หื้น)

     หับ โห้ หิ้น เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง ความสามัคคี ความกลมเกลียว และความเจริญรุ่งเรือง เป็นโรงสีเก่าแก่อายุนับ 100 ปี จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า โรงสีแดงเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2457 รองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี(จุ่น เลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) เปิดกิจการโรงสีข้าว ที่บ้านเลขที่ 13 ถนนนครนอก ริมทะเลสาบสงขลาชื่อโรงสี "หับ โห้ หิ้น" ผู้คนเรียกว่าโรงสีแดง เพราะอาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง

    ช่วงเริ่มกิจการเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก สั่งเครื่องจักรมอเตอร์ในการสีข้าวมาจากปีนัง มีคุณสุชาติ รัตนปราการเป็นผู้จัดการต่อมาเปลี่ยนมาใช้แกลบเป็นเชื่อเพลิงทำให้โรงสีเดินด้วยกำลังไอน้ำโดยสั่งเครื่องจักรมาจากอังกฤษ มีคนงาน 30 - 50 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการทำงานเป็นกะเป็นโรงสีขนาดใหญ่ และทันสมัยที่สุดในยุคนั้น รับสีข้าวจากพื้นที่ปลูกข้าวรอบทะเลสาบสงขลา สามารถผลิตข้าวสาร จำหน่ายแก่ประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอาทิ เปรัค และอีโป 

    ในประเทศมาเลเซีย เป็นต้นในปี พ.ศ.2490 พื้นที่รอบนอกสงขลามีการสร้างโรงสีขนาดเล็ก ทำให้ข้าวเปลือกที่จะป้อนโรงสีลดลงจึงต้องยุติกิจการโรงสีข้าวมาทำกิจการโรงน้ำแข็งขนาดเล็กจำหน่ายในชุมชน และเปลี่ยนเป็นโกดังเก็บยางพาราสำหรับลำเลียงขนถ่ายไปยังเรือเดินสมุทร ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะหนู เพื่อขนส่งไปยังต่างประเทศ และเมื่อมีท่าเรือน้ำลึกสงขลา การขนส่งยางพาราด้วยเรือลำเลียงจึงต้องหยุดกิจการมาเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็กแทน

       ปัจจุบันคุณรังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่นที่ 3 และประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาให้โรงสีแดงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชนมากมาย และยังคงปรับปรุงโรงสีแดงให้คงสภาพเดิมไว้อย่างน่าชื่นชม


     ส่วนถนนนางงาม พออ่านมาถึงจุดนี้ บางคนอาจจะเริ่มจินตนาการว่า ถนนสายนี้น่าจะมาจากสาวงามกำเนิดในถิ่นนี้ ไม่ผิดหรอกครับ

"ชื่อ"ถนนนางงาม" เดิมถนนสายนี้ ชื่อ"ถนนเก้าห้อง" และถูกเรียกเป็น "ถนนนางงาม"คุณกมลทิพย์ สุดลาภา เป็นที่มาของถนนนางงามคนเก่าแก่จะเล่าว่า คนที่เป็นเจ้าของ "ชื่อถนน" คือคุณกมลทิพย์ สุดลาภา(สกุลเดิมภูรีสารศัพท์) มีชื่อเล่นว่า(คุณแหม่ม) เป็นธิดาของขุนระบินประกาศ

คุณแหม่มเป็นคนดีมีชื่อเสียงชาวถนนเก้าห้อง หรือถนนนางงามจังหวัดสงขลา และคุณปู่ และคุณทวดของคุณแหม่มรับราชการได้ศักดินาที่ดินย่านถนนนนางงามทั้งหมด และแหม่มนอกจากเป็นคนดี มีจิตใจสวยงามแล้วเป็นที่ล่ำลือกันถึงความงามเป็นชาวสงขลาที่เกิดและเติบโตย่านถนนสายนี้ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียน"วรนารีเฉลิม" โรงเรียนสตรีคู่เมืองสงขลา คู่กับโรงเรียนมหาวชิราวุธ ซึ่งเป็นโรงเรียนชายคุณแหม่มเรียนจบครุศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยครูสวนดุสิต และแต่งงานกับคุณเชาวน์วัศ สุดลาภา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครคนที่ 7

   นี้คืออีกมุมหนึ่งของความเป็นเมืองเก่าสงขลา ที่ใครได้เข้าไปสัมผัสแล้วจะให้ความรู้สึกรัก และหวงแหนความเป็นสถาปัตยกรรมของการสร้างเมือง และถ้าไปแล้วยังจะเจอถนนย่อยอีกหลายสาย อันเป็นการเอาจังหวัด อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งเป็นชื่อถนนด้วย เช่น ถนนยะลา ถนนยะหริ่ง เป็นต้น

      ที่เขียนมาถึงสามตอนถึงความเป็นเมืองเก่าของสงขลา ที่ชาวสงขลาควรจะรัก หวงแหน เก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา เรียนรู้รากเง้าของบรรพบุรุษ และช่วยกันผลักดันให้ยูเนสโก้ขึ้นทะเบียนเมืองเก่าสงขลาเป็นมรดกโลก

 #นายหัวไทร #เมืองเก่าสงขลา #มรดกโลก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น