“สรรเพชญ” ซัดรัฐบาลกู้เงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์หวั่นก่อหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต สวนทางนโยบายคนไทยมีกินมีใช้ ที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียง
16 มิถุนายน 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นี้ โดยนายสรรเพชญ กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 หน้า จะส่งมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาทำความเข้าใจในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เพราะบรรดาเอกสารต่าง ๆ พึ่งมาถึงรัฐสภาและให้สมาชิกฯ ไปรับเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเวลาในการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ เพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการทำหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ในรัฐสภา
จากการที่ตนได้ศึกษาดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 แล้ว เห็นว่างบประมาณดังกล่าวไม่ค่อยแตกต่างอะไรกับงบประมาณในปีที่ผ่าน ๆ มามากนัก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแทบจะ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 ที่มีการตั้งวงเงินกว่า 3.7 ล้านล้านบาท คือเรื่องของการกู้ขาดดุลที่มีการกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเกือบเต็มเพดานกรอบวงเงินที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเมื่อพิจารณาที่ประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลางรัฐบาลมีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีรายรับประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และปี 2569 จะมีรายรับประมาณ 3 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐบาลจะมีรายได้ตามเป้าจริงหรือไม่ เพราะในปีที่ผ่าน ๆ มามักจะมีรายได้ไม่ตามเป้าแล้วจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลังสูงขึ้นไปอีก ยิ่งกู้มากรัฐบาลก็เสี่ยงต่อการกู้ชนเพดานอันจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจและไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ยังทำงบประมาณแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่จะให้คนไทยมีกิน มีใช้ ที่โฆษณาตอนหาเสียง
ในงบประมาณปี 2568 นี้สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือรัฐบาลมีการตั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 152,700 ล้านบาทในงบกลาง เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไรหากรัฐบาลต้องการที่จะทำนโยบายนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ถนัดในการทำนโยบายโปรยเงินแบบ Helicopter Money ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะหาเงินใหม่จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าในประเทศเพื่อทำนโยบาย แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการแบบทางลัดโดยการกู้เงินเพื่อทำนโยบายดังกล่าว เสมือนเป็นการสูบเลือดของประชาชนดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นอธิบายง่ายๆ มันก็คือ หมอบอกว่าคนไข้ว่าต้องการเลือดใหม่ แต่แทนที่จะหาเลือดใหม่มาอัดฉีดให้กับคนไข้ แต่สิ่งที่หมอทำคือ “สูบเลือดออกจากคนไข้ แล้วนำมาฉีดคืนให้กับคนไข้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนคือ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ทสามารถซื้อโทรศัพท์ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากซื้อได้ก็อาจเป็นการเอื้อนายทุนค่ายมือถือรายใหญ่ที่ขายเครื่องพร้อมแพคเกจให้กับประชาชนโดยใช้เงินจากโครงการของรัฐบาล “งบประมาณปี 2568 นี้ สิ่งที่รัฐบาลแสดงความสามารถให้เห็นได้ชัดเจนคือความสามารถในการกู้เงินและไปล้วงเงินจากที่อื่น ๆ มาได้ดีกว่าการหาเงินใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งจนวันนี้แล้วรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้คืนหรือชดเชยคืนเงินที่เอามาทำนโยบาย Digital Wallet นี้เลย” นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น