ผลงานที่น่าจดจำของพรรค ประชาธิปัตย์
……
มีสำนวนทางการเมืองเกี่ยวกับประชาธิปัตย์ “ดีแต่พูด” ซึ่งถ้าพิจารณากับด้วยใจที่เป็นธรรม และเพ่งพินิจถึงเนื้องานจะพบผลงานของประชาธิปัตย์มากมายที่น่าจดจำ และส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้
ที่สำคัญยังไม่พบว่ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เจอคดีทุจริตจนถึงขั้นติดคุกเลยแม้แต่คนเดียว อันเป็นไปตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรคเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอรปชั่น มีแต่เพียงข้อกล่าวหาในเชิงสังคม แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการพิสูจน์
กล่าวถึงผลงานประชาธิปัตย์มีมากมาย แต่ขอกล่าวแต่เพียงย่อๆ การจัดตั้ง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2536 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 (23 ก.ย.35 - 13 ก.ค.38) เดิมภารกิจด้านแรงงานอยู่กับกรมแรงงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อภารกิจในการดูแรงงานมีมากขึ้น ประชาธิปัตย์จึงเสนอให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น ตั้งหนึ่ง “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” จากพรรคประชาธิปัตย์เคยนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ มี “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นเลขานุการ
จัดทำโครงการขยายถนน 4 ช่องทางจราจรไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเป็นครั้งแรก ตามนโยบายหลักของรัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) ที่ขยายถนนเป็น 4 ช่องทางจราจรจากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือถึงเชียงราย ไปภาคอีสานถึงหนองคาย ไปภาคตะวันออกถึงตราด และไปภาคใต้ถึงนราธิวาส โครงการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์และได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศจนถึงปัจจุบัน
การจัดทำโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายแรกของประเทศไทยคือ ถนนมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยอนุมัติและเริ่มก่อสร้างในสมัยรัฐบาลชวน 1 เมื่อปี พ.ศ. 2537 และเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลชวน 2
พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจตามอุดมการณ์ของพรรค จึงผลักดันพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 (23 ก.ย.35 - 13 ก.ค.38) ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ที่เป็นการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ คือ “องค์การบริหารส่วนตำบล” หรือ อบต. ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ให้นายกฯอบต.และส.อบต.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จากเดิมกำนันทำหน้าที่เป็นนายกฯอบต.ด้วย
ผลงานเรื่องการกระจายอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์มีอีกมากมาย เช่น ยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาลตำบล แก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จากเดิมผู้ว่าฯสวมหมวกสองใบ และช่วงหลัง สจ.เลือกกันเองมาเป็นนายกฯอบจ. รวมถึงการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จากเดิมมาจากการแต่งตั้งของมหาดไทย รวมถึงผลักดันให้มีการจัดตั้งเมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร
ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือการจัดตั้ง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย รัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 (23 ก.ย.35 - 13 ก.ค.38)) มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 และต่อมาได้จัดทำ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 ขึ้นในรัฐบาลชวน 2 (ครม. คณะที่ 53 (14 พ.ย.40 - 9 พ.ย.43) ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ต่อการศึกษา เปิดโอกาสให้ลูกหลานคนยากคนจนได้กู้ยืมเรียนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำงานแล้วค่อยผ่อนคืนที่หลัง
การเสนอ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 53 (14 พ.ย.40 - 9 พ.ย.43) ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่มอบสิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีแก่เยาวชนไทย โดยรัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย พระราชบัญญัติดังกล่าวจัดทำจนสำเร็จโดยการกำกับดูแลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในขณะนั้น จัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอทั่วประเทศ
ประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการสร้างคน จึงเน้นไปเรื่องการศึกษา นอกจากเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การปฏิรูปการศึกษา ประชาธิปัตย์ยังดำเนินการปรับเปลี่ยนจาก อนุบาลชนบทมาเป็นศูนย์เด็กเล็ก ริเริ่มโครงการนมโรงเรียน เริ่มปี2536 สมัยนายชวนเป็นนายกฯมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมกันทุกคน และยังมีโครงการอาหารกลางวันฟรี ที่โรงเรียน
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุ ก็มีโครงการเบี้ยผู้สูงอายุ ให้ได้รับเงินเพื่อดูแลชีวิตผู้สูงอายุเป็นรายเดือนๆละ 600 บาท ที่ทุกวันมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอต่อยอด เพิ่มวงเงิน 2000 บาท 3000 บาทบ้าง เปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่นบ้าง
ในสมัย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการผลักดันให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอครบทุกอำเภอ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
ประชาธิปัตย์เล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ จึงดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องบุกรุกป่าและที่ดินรัฐ โดยใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อการทำกิน (สปก.) และพรรคประชาธิปัตย์ยังเดินหน้าเร่งรัดแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เปลี่ยนเอกสารสิทธิ์จาก สค.1 เป็นโฉนด เปลี่ยน นส.3 เป็นโฉนด เร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน
ในสมัยที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และกำกับดูแลกรมที่ดิน ก็สั่งการให้กรมที่ดินเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนด ดำเนินการไปได้แล้วกว่า 300,000 แปลง และประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงครั้งหน้า ออกโฉนดให้ได้ 1 ล้านแปลงใน 4 ปี รวมถึงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำกินบนที่ดินของรัฐด้วย
ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติราคาน้ำมัน วิกฤติเศรษฐกิจโลก ผลงานของ “จุรินทร์” ก็น่ากล่าวขานถึงกับการผลักดันการส่งออกจนตัวเลขส่งออกโตขึ้นต่อเนื่อง สามารถประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปได้ รวมถึงนโยบายประกันรายได้ให้กับผลิตผลการเกษตร 5 ตัว คือ ยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไม่มีปัญหาเงินตกหล่นระหว่างทาง เนื่องจากโอนเงินจากสถาบันการเงินไปยังบัญชีของเกษตรกรโดยตรง
ถ้าพิจารณากันด้วยใจที่เป็นธรรม ลดอคติลง ไม่เอาอารมณ์เป็นตัวตั้งจะเป็นผลงานของประชาธิปัตย์มากมาย ที่ยกมาเป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นเอง จริงๆแล้วยังมีอีกมากมาย
เหล่านี้คือนโยบายของประชาธิปัตย์ที่ควรได้รับการกล่าวขานถึง เพื่อเป็นการยืนยันว่า “ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ทำด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น