โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เมื่อพลพรรคประชาธิปัตย์สามัคคีกันลุกขึ้นสู้ “เขาจะกลับมาฟื้นตัวเสมอ”

 เมื่อพลพรรคประชาธิปัตย์สามัคคีกันลุกขึ้นสู้ “เขาจะกลับมาฟื้นตัวเสมอ”

……


แม้มีคนกล่าวว่า สถานการณ์เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำสุดขีดแล้ว ตายแล้ว ไปที่ไหนก็กระแสไม่ค่อยจะมี อันเป็นการสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

 

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้มาพียง 52 ที่นั่งจากที่เคยได้เกิน 100 มาแล้ว แถมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ ไม่มี ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ภาคใต้รังของประชาธิปัตย์ก็ได้มาแค่ 21 ที่นั่ง อันเกิดจากคำพูดเพียงประโยคเดียวของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น “ไม่เอาประยุทธ์” ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคงคิดว่าเป็นวรรคทองที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งได้ อันอาจจะเกิดจากการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ว่า คนไทยไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาประยุทธ์แล้ว

 

แต่วรรคทองดังกล่าวกลับเป็นหอกกลับมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์จนถึงทุกวันนี้ และหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็นำทีมร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จนถึงทุกวันนี้ อภิสิทธิ์รับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจาก ส.ส. และมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

 

นั้นคือประเด็น และเหตุผลที่คิดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ คนไม่เลือกแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับไปมองในอดีตพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเจอประสบการณ์ตกต่ำมาแล้วหลายครั้ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กลับมาสามัคคีกัน สร้างเนื้อตั้งตัวใหม่ ประชาธิปัตย์ก็จะกลับมาฟื้นเหมือนเดิน

 

ย้อนกลับไปเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นโดยบุคคลคณะหนึ่ง มี “ควง อภัยวงศ์” เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศเจตนารมณ์ และจุดยืนชัดเจน 10 ข้อ ที่โดดเด่น เช่น ไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารในท้องถิ่น อันถือเป็นนโยบายที่ก้าวหน้า และทันสมัยที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์ก้าวเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ล้มแล้วลุกตามสถานการณ์ทางการเมือง

จนถึงปี 2522 ผลการเลือกตั้งไม่น่าเป็นที่พอใจนัก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตกต่ำ ผลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครพรรคประชาธิปัตย์ได้มาเพียง 1 คน คือ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ หม่อมราชวงค์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ในเวลานั้นรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่กอบกู้พรรค พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - 2525 หลังหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระแสความนิยมตกต่ำอย่างรุนแรงและสมาชิกในพรรคเกิดความแตกแยกกัน

 

พันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ เป็นนักกฎหมาย เป็นนักการทูต เป็นนักการเมืองที่ฉะฉานนักข่าวถ้าไม่แน่จริง ไม่ชัดเจนในประเด็น ไปถาม ฝพันเอกถนัด คอร์มันตร์ จะถูกถามกลับมาเป็น “นักข่าวก็ไปไม่เป็น” เหมือนกัน สมัยนั้นต้องระดับ “สุทธิชัย หยุ่น” ถึงจะเอาอยู่ แต่ก็ถูกพันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ ถามย้อนกลับเอาไม่น้อยเหมือนกัน แต่ด้วยความเคี้ยวของสุทธิ หยุ่น ก็ถือว่า “เอาอยู่”

พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ต้องเข้ารับภาระในตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เพื่อประคองพรรคให้อยู่รอดต่อไปได้

กล่าวกันว่า พันเอก (พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการบริหารที่ยาก เป็นการบริหารท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับอีกขั้วการเมืองในพรรค คือขั้วของ “พิชัย รัตตกุล” ซึ่งในขณะนั้นนายพิชัยเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ด้วย เนื่องจากมีสภาพเหมือนคู่แข่งกัน ในการทำงานระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่คนละรัฐบาล และต่างขั้วกัน โดยกล่าวกันในวงสนทนาว่า ถ้ามีผู้ใดถามถึง พิชัย กล่าวกันว่า พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ จะตอบเสมอ ๆ ว่า "ไม่รู้จักคน ๆนี้”

 

หมดยุคของพันเอก(พิเศษ) ในปี 2525 พิชัย รัตตกุล ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ นำพาพรรคให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยผลการเลือกตั้งที่คว้าชัยมาถึงหลัก 100 ที่นั่ง ถือว่า พรรคประชาธิปัตย์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่พิชัยก็ก้าวพลาดจนได้ เมื่อนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่กลับไม่ทำตามข้อตกลงกับกลุ่ม “เฉลิมพันธ์-วีระ” ในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับกลุ่ม ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นอีกครั้งสะสมมาเรื่อยๆ จนมาแตกหักในวันที่ 10 มกราคม 2530 อันเป็นวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรค มีการแข่งขันกันสองขั้ว ขั้วหนึ่งมี “ชวน หลีกภัย” เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค อีกขั้ว มี “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” ลงชิง ต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุน อันนำมาซึ่ง “กบฏ 10 มกรา” แถลงข่าวไล่เตะ ไล่ถีบกันรายวัน

 

กลุ่ม “เฉลิมพันธ์-วีระ” ต้องออกจากพรรค มาตั้งพรรคประชาชน แต่ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ในขณะที่กลุ่ม “ชวน หลีกภัย” สามัคคี-กอดคอ”กัน นำพาพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาฟื้นฟูรุ่งเรืองได้อีกครั้ง แต่จะไม่เป็นพรรคอันดับ 1 แต่ถือว่า ค่อยๆกลับมาฟื้นตัว สนามกรุงเทพฯ กลับมามี ส.ส.มากขึ้น ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.พรรคประชาธิปัตย์ชนะมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หรือ “หม่อมราชวงค์สุขุมพันธุ์ บริพัตร” มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขตเป็นฐานสำคัญ

 

ภาพการค่อยๆกลับมาฟื้นตัวของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มค่อยๆฉายภาพผ่านการเลือกตั้งในสนามกรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งผู้บริหารกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แม้ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” จะยังไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่คะแนน 300,000 กว่าคะแนนถือว่าไม่น่าเกลียดกับสถานการณ์ของพรรคในเวลานี้ ประกอบกับการกลับมาได้รับเลือกตั้งของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเกือบสิบคน

 

นอกจากนี้ยังสะท้อนผ่านการเลือกตั้งซ่อมสองครั้งล่าสุด ที่ประชาธิปัตย์เอาชนะทั้งสองครั้งไม่ว่าจะเป็นเขต 6 สงขลา หรือเขต 1 ชุมพร อันเป็นภาพสะท้อนว่า พรรคประชาธิปัตย์ค่อยๆกลับมา และอนาคตถ้าพลพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันเหนียวแน่น สามัคคีจับมือเดินกันไป สร้างผลงาน สร้างนโยบายที่โดนใจ ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ญาติพี่น้อง เชื่อว่าประชาธิปัตย์อันเป็นสถาบันทางการเมืองจะกลับมาฟื้นตัวได้อีก

ร่วม 4 ปีได้เห็นภาพรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์พูดน้อยลง ลดภาพ”ได้แต่พูด แต่ไม่ทำ”ลงไปได้ และตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็งมากขึ้น ผลงานเริ่มเป็นที่ปรากฏ ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 การดูแลพี่น้องเกษตรกรด้วยนโยบายประกันรายได้ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนมีหลักฐานในการเข้าถึงแหล่งทุน

ในช่วง 4-5 เดือนมานี้ได้เห็นความเอาจริงเอาจังในการแสวงคนโยบายใหม่ๆ ทันสมัย ภาคใต้การยกร่างของ “ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม” รวมถึงการพยายามหานโยบายท้องถิ่น เช่น การกำหนดให้พื้นที่สนามรบอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแหล่งคลังอาหาร เป็นต้น อีกไม่ช้าไม่นานเชื่อว่า นโยบายก้อนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า และเป็นนโยบายที่ผ่านการกลั่นกรองจากมันสมองระดับหัวกะทิ ที่ออกมาแล้วทำได้จริง ไม่ใช่ลมๆแล้งๆ ประกาศออกมาแค่หาเสียง หลอกลวงประชาชน สุดท้ายแล้ว “ทำไม่ได้”

การเลือกตั้งครั้งหน้าให้จับตาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาฟื้นตัวหรือไม่ กลับตัวเลข 52+ ถ้าได้น้อยกว่านี้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ต้องเลิกเล่นการเมือง “จุรินทร์” ต้องรับผิดชอบ และจะเป็นตัวชี้วัดว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาฟื้นตัวหรือไม่ เร็ว หรือช้า

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น