โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เล่าเรื่องมุมมอง..ปัญหาการทุจริตคดโกง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้อยพัฒนาในรูปแบบทางการบริหาร แล้วแก้ไขได้ยาก อะไรที่เป็นสาเหตุสำคัญ



      เล่าเรื่องมุมมอง..ปัญหาการทุจริตคดโกง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้อยพัฒนาในรูปแบบทางการบริหาร แล้วแก้ไขได้ยาก อะไรที่เป็นสาเหตุสำคัญ


ณ วังวรดิศ 

"เมื่อหลายๆ คน ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยเหตุอันใด ปัญหาการทุจริตคดโกง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้อยพัฒนาในรูปแบบทางการบริหาร แล้วแก้ไขได้ยาก อะไรที่เป็นสาเหตุสำคัญ คงต้องมองไปที่ (1)ระบบพวกพ้อง และ (2)ระบบการตรวจสอบที่ยังไม่ 'workable' ถือเป็นตัวปัญหาขวางกั้นการพัฒนาสู่หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คิดว่าคงไม่ต้องใช้คำว่าไม่รู้จักพอ หรือความโลภโมโทสัน เพราะนั่นคือพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลประเภทนี้ ฝังรากลึกเป็นกมลสันดาน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ผู้เป็นย่าของข้าพเจ้าเคยประทานสอนแก่ศิษย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งหนึ่งว่า 'โดยธรรมชาติคนเราทุกคนเกิดมาเพื่อกระทำความดี อันธรรมชาติมาจากคำว่า 'ธรรม' จะไม่กระทำความชั่ว'


...ลูกหลานเยาวชน ครูอาจารย์ จงได้พิจารณาคำพูดของนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ได้สอนไว้ว่า 'สันดอน' ขุดง่าย แต่ 'สันดาน' ขุดยาก มีศิษย์ถามขึ้นว่า 'สันดอน' ที่ว่านั้นคืออะไร สาเหตุใดจึงเป็นคำพูดเปรียบเปรยกับคำว่า 'สันดาน' คำอธิบายมีว่า 'สันดอน' เป็นคำนาม หมายถึงดินหรือบรรดากรวดทรายซึ่งน้ำพัดเอามารวมกัน ปรากฏเป็นลักษณะนูนยาวอยู่ใต้น้ำ ทำให้สูงเป็นชั้นหรือเป็นสันขึ้น ส่วนคำว่า 'สันดาน' เป็นคำนาม หมายถึง อุปนิสัยใจคอที่บุคคลมีมาแต่เกิด

 เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว หากใช้ในภาษาพูด มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่น สันดานของเขาผู้นั้น (ที่ทุจริตคดโกง ชั่วร้าย) เป็นเสียเช่นนี้ อย่าไปคิดแก้ไขให้ยากลำบาก ดังนั้น เมื่อดูคำอธิบายของทั้ง 2 คำแล้ว คงเห็นภาพกันได้ไม่ยาก ว่าที่เปรียบไว้นั้นก็เพื่อให้เห็นว่าการขุดลอกนำดินทรายที่มาทับถมอยู่ในน้ำออกไปย่อมทำได้ง่ายกว่าจะแก้อุปนิสัยใจคออันเป็นกมลสันดานของบุคคลที่มีมาแต่เกิด ที่ถือเป็นเวรเป็นกรรม


...ว่าด้วยบริบทปัจจุบัน ครูอาจารย์จึงพยายาม ฟูมฟักศิษย์ทุกคน ในทุกวี่ทุกวัน เรื่อง 'คุณธรรมจริยธรรม' อันถือเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงมาตรฐานทางศีลธรรม ความเจริญทางสังคม และเป็นรูปแบบทางความคิดของคนดีและการกระทำบนพื้นฐานของมาตรฐานทางศีลธรรม คุณธรรมนับรวมถึงบริบทของค่านิยม บุคคลแต่ละคนมีค่านิยมที่เป็นหลักของความเชื่อ ความคิด ความเห็น ของคนๆ นั้น อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง (Honesty) ในแง่ของค่านิยม คือ คุณธรรมที่เชื่อมค่านิยมของคนๆ นั้นเข้ากับความเชื่อ ความคิด ความเห็น และการกระทำของคนดีที่สมควรเป็นคนหมู่ใหญ่ สังคมมีค่านิยมร่วมที่คนในสังคมยึดถือร่วมกัน อันเป็นค่านิยมส่วนตัวที่พึงมีและปฏิเสธไม่ได้ คือ ความดีงาม"


*ส่วนหนึ่งจากการบรรยายพิเศษของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส, รองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างคนดี คนเก่ง สู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน วุฒิสภา และประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปาฐกถาพิเศษแก่ คณะข้าราชการ คณาจารย์ และลูกหลานเยาวชน ณ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
(20 ก.พ. 63)


Admin Writing
#วุฒิสภา#
#สถาบันดำรงราชานุภาพกระทรวงมหาดไทย#
#กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกระทรวงยุติธรรม#
#พิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ#

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น