โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ หลั่งไหลร่วมพิธีแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วอย่างเนืองแน่น ในวันมาฆ


พุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ หลั่งไหลร่วมพิธีแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วอย่างเนืองแน่น ในวันมาฆบูชา


         

  ที่วัดพระมหาธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วันนี้(19 ก.พ. 62)นายกู้เกียรติ  วงศ์กระพันธุ์   ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงาน งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เขียนบาง  ซึ่งเป็นงานประเพณีที่จัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปี ช่วงวันมาฆบูชา  หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3  เพื่อเป็นพุทธบูชาและรักษาไว้ซึ่ง วัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธพร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง  โดยในปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์  2562    วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง 


          ซึ่งปีนี้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานผ้าห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ให้กับจังหวัดพัทลุง เพื่อนำมาประกอบพิธีแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วด้วย  โดยในปีนี้ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ นำผ้าห่อบรมพระธาตุเจดีมาร่วมพิธีทั้งสิน 35 ผืน มีประชาชนร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น


          สำหรับประวัติของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว  เดิมชื่อวัดเขียนบางแก้ว  ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นวัดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 13  - 14  โดยมีตำนานการสร้างอยู่หลายตำนาน เช่น ในจารึก เพลาวัดกล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วว่า นางเลือดขาวกับพระยากุมาร เป็นผู้สร้างวัดขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า เพลาวัดระบุว่าสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1492  และต่อมาในปี พ.ศ. 1493 พระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้เดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์  


        นอกจากนี้ในประวัติวัดเขียนบางแก้วของ พระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. 1482 (จ.ศ.301) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 1486 ส่วนทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ. 1482

         จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 14 – 18  แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา  ซึ่งข้อนี้สันนิฐานว่าองค์พระธาตุเจดีย์ปัจจุบันน่าจะได้รับการบูรณะขึ้นใหม่สมัยอยุธยามากกว่า เพราะมีหลักฐานโบราณวัตถุอื่นที่พบ ได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่แห่งนี้ มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14  และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายมาก่อน   และเปลี่ยนแปลงมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาในภายหลัง


          ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูเสมอๆ จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาทำลายบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายเป็นจำนวนมาก   ด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว จนเมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้จึงบูรณะวัดขึ้นอีก และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง ในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ 2  ครั้ง คือครั้งแรก ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ. 2109 – 2111  ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะคือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน และครั้งที่ 2  สมัยพระเพทราชา พ.ศ. 2242 ผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาณสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง

           เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายรายงานต่อพระเพทราชา  ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ร่วมทำการบูรณะ ได้รับการยกเว้น การเสียส่วยสาอากรให้ทางราชการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310  วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จึงได้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน


         สำหรับพระธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงจากฐานถึงยอด 22 เมตร รอบองค์เจดีย์บริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28  เมตร สูง  2.63 เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง  ระหว่างซุ้มพระ มีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดแบบจีน มุมบันไดทั้ง 2  ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม

        ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ซึ่งเดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ผู้พิทักษ์องค์พระธาตุทั้ง 4 คือ พระครูกาแก้ว  พระครูกาเดิม  พระครูการาม  และ พระครูกาชาด  (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5  ดอก (ภายหลังทองคำถูกขโมยหายไป) ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น