โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“หมาถึกคึกคะนอง” มาไล่ “ไก่ทองคะนองศึก” เจ้าหน้าที่และคนชายแดนใต้เขาฉลองท่ามกลางไฟใต้กันอย่างไร?

“หมาถึกคึกคะนอง” มาไล่ “ไก่ทองคะนองศึก” เจ้าหน้าที่และคนชายแดนใต้เขาฉลองท่ามกลางไฟใต้กันอย่างไร?!

 / ไชยยงค์ มณีพิลึก



ในที่สุดปี 2560 ก็กำลังจะผ่านไป พร้อมกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 10 วันสุดท้ายของปีเก่าก่อนที่จะขึ้นปีใหม่ 2561 “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การปล้นและเผาทิ้งรถทัวร์ในพื้นที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับคนร้ายไปแล้ว และแน่นอนว่าย่อมต้องเป็นโจรใต้ที่มีประวัติก่อเหตุ และมีหมายจับติดตัวอยู่หลายหมาย
นี่เป็นการยืนยันที่ชัดเจนว่า การปล้นรถทัวร์และเผาทิ้งเป็นฝีมือของโจรใต้ หรือแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน ไม่ใช่เป็นเรื่องของ “ไอ้โม่ง” ที่ไหนแฝงตัวมาสร้างสถานการณ์ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ “ภัยแทรกซ้อน อย่างที่ “ผู้ใหญ่ ในพื้นที่พยายามที่จะให้เป็น
และหลังเกิดเหตุ “เสือปืนไว” ที่ต้องจัดให้อยู่ใน “สายเปย์” โดยเฉพาะถนัดยิ่งในการ “จ่ายเงิน” อย่าง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “ศอ.บต.” ก็ได้จ่ายค่าเยียวยาความเสียหายให้เจ้าของ “รถทัวร์” ที่ถูกเผาไปแล้ว 1,300,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะคุ้มค่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ดังนั้นการตั้งข้อสงสัยว่า มีการวางแผนปล้นและเผารถทัวร์เพื่อขอ “รับเงินเยียวยา” น่าจะตกไป
ที่สำคัญโจรใต้ก็ไม่ได้หยุดปฏิบัติการเพียงแค่การปล้นและเผารถทัวร์เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็ออกมาปฏิบัติการ “วางระเบิดเสาไฟฟ้า” ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เสียหายไปถึง 5 ต้น
ผลของการปฏิบัติการบอมบ์เสาไฟฟ้าครั้งนี้ไม่ได้หวังผลในเรื่องของ “ชีวิต” แต่ต้องการสร้าง “ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ” ให้เกิดขึ้นกับ อ.เบตง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยว
และที่สำคัญเป็น “เมืองต้นแบบ” ที่ทั้ง ครม.ส่วนหน้า, กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. มีการ “โปรโมต” ให้เห็นถึงความสำเร็จของรัฐบาล คสช. ในการ “ดับไฟใต้ ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม
ผลของระเบิดเสาไฟฟ้าในครั้งนี้คือ ไฟฟ้าดับทั้งเมืองเบตงนานถึง 24 ชั่วโมง ธุรกิจต่างๆ พังยับเยิน เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ และที่สำคัญคือ การสร้าง “ความหวาดผวา” ให้เกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งที่ติดตามมาคือ “ความไม่เชื่อมั่น ในอำนาจรัฐ
โดยเฉพาะการ “ขาดศรัทธา” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบของบรรดา “แม่ทัพนายกอง” ในพื้นที่
แม้ว่าจากตัวเลขของการก่อเหตุร้ายและของการเสียชีวิตของผู้คนในรอบปี 2560 ซึ่งจากสถิติที่ถูกทำออกมาโชว์ ฝ่ายความมั่นคง “พออกพอใจ” เป็นอย่างยิ่ง เพราะพบว่าตัวเลขของการเกิดเหตุร้ายและมีคนตายน้อยลงที่สุดในรอบ 13 ปีของการเกิดไฟใต้ระลอกใหม่
โดยฝ่ายรัฐก็คงจะ “อนุมาน” เอาเองว่า การก่อเหตุที่น้อยลงมาจาก “ความสำเร็จ” ในการป้องกันและการทำงานด้านมวลชนได้ผล
แต่โดยข้อเท็จจริง ถ้ามองให้ทะลุปรุโปร่งจะพบว่า การสรุปแบบเข้าข้างตนเองน่าจะไม่จริง เพราะก่อนหน้าที่จะมีการวางระเบิดเสาไฟฟ้าที่เบตง จ.ยะลา และการก่อเหตุร้าย เช่น การโจมตีฐานทหาร การตัดต้นไม้ ขวางถนน การวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เราจะพบว่าเจ้าหน้าที่ป้องกันเหตุไม่ได้
ทั้งที่ก่อนหน้าเกิดเหตุ 2 วัน “การข่าว” ได้มีการแจ้งเตือนไปแล้วว่า จะมีการก่อเหตุร้ายในพื้นที่
โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปฏิบัติการปล้นและเผารถทัวร์ไปแล้วในพื้นที่ อ.บันนังสตา ซึ่งหลังเกิดเหตุน่าจะมีการป้องกันเหตุในพื้นที่และรวมถึงเขตติดต่อ อ.ธารโต และ อ.เบตง อย่างต่อเนื่อง
แต่สุดท้ายก็เห็นชัดเจนว่า แม้การข่าวจะรู้ล่วงหน้า แต่ “การป้องกัน” ยังคง “ล้มเหลว” เช่นเดิม
ความล้มเหลวประการต่อมาคือ หลังเกิดเหตุมีการสรุปจากองค์กร กอ.รมน. นั่นแหละว่า กระวางระเบิดเสาไฟฟ้าที่ ต.อัยเยอร์เวง และการปฏิบัติการหลายแห่งใน อ.สุไหงปาดี เป็นการก่อกวนของ “แนวร่วมรุ่นใหม่” ที่ถูกสั่งให้ปฏิบัติการเพื่อทดสอบฝีมือ
ถ้าเป็นอย่างที่เป็นข่าวตามที่สื่อมวลชนนำเสนอจริง นั่นหมายถึง “ความล้มเหลวครั้งใหญ่” ในการป้องกันและควบคุมการนำมวลชนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
เนื่องเพราะถ้าทุกครั้งที่มีการก่อเหตุ ล้วนเป็นการปฏิบัติการของแนวร่วมรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นว่า “ชาตินี้น่าจะหมดหวัง” ในการ “ยุติ” ความรุนแรงและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มีการส่งกำลังใหม่ เพื่อทดแทนกำลังรุ่นเก่าตลอดเวลา
โดยเฉพาะการทดแทนกองกำลังบีอาร์เอ็นฯ ส่วนที่ถูกเปลี่ยนหน้าที่ หรือเบื่อหน่ายและยอกเข้าสู่ “กระบวนการพาคนกลับบ้าน



นอกจากนั้นยังมีข่าวจากฝ่าย กอ.รมน.เอง อีกเหมือนกันว่า การก่อเหตุร้ายในพื้นที่ เช่น การวางบึ้มเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เจ้าหน้าที่สนใจกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้ “ขบวนการค้ายาเสพติด” สามารถขนสินค้าได้อย่างสะดวก
ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง นั่นนับว่ายิ่งเน้นให้เห็นถึง “ความล้มเหลว” ในเรื่องการแก้ปัญหา “ภัยแทรกซ้อน”
เพราะการกล่าวอ้างดังกล่าวเกิดครั้งตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์  ผู้แทนพิเศษรัฐบาลยังทำหน้าที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นเจ้าของโครงการทำลายภัยแทรกซ้อน จนถึงขณะนี้เปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ไปแล้ว 4 คน แต่ภัยแทรกซ้อนยังปราบไม่ได้ ทั้งที่หน่วยงานอย่าง กอ.รมน. และ ปปส. ต่างมีบัญชีรายชื่อของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ชัดเจน
แน่นอนว่าวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มจะมีความสำเร็จในเรื่องของการออกหมายจับและการจับกุมผู้ทำความผิดได้มากขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการสืบสวน สอบสวนและพิสูจน์หลักฐาน
แต่งานด้าน “การป้องกัน” ก็มีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะการจับกุมเป็นเรื่องของ “ปลายเหตุ” เนื่องจากเกิดความสูญเสียขึ้นแล้ว และความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางแล้วด้วยเช่นกัน
วันนี้ยุทธวิธีของโจรใต้ยังไม่เปลี่ยน เช่น การก่อเหตุบนถนนสายหลักและสายรอง การวางระเบิดเสาไฟฟ้า การโจมตีสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ อันเป็นยุทธวิธีที่ต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในการลาดตระเวนบนถนน การดูแลเสาไฟฟ้า สะพาน ทางรถไฟ และอื่นๆ เพื่อหลอกล่อให้มีการใช้กำลังพลอย่างสิ้นเปลือง และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวร
อันเป็นแผนของบีอาร์เอ็นฯ ในการ “โดดเดี่ยว” พื้นที่รอบนอกให้ปลอดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่แนวร่วมจะได้ “ทำงานการเมือง” ซึ่งเป็น “งานใต้ดิน” ได้อย่างปลอดภัยและปลอดโปร่ง ดังนั้นสถานศึกษาตั้งแต่ระดับล่างในหมู่บ้าน จนถึงระดับบนในเมือง จึงยังตกอยู่ในการควบคุมของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ได้ตลอดมานั่นเอง
ตรงนี้ต่างหากที่เป็น “โจทย์ใหญ่” ของการแก้ปัญหาเพื่อดับไฟใต้ ซึ่งยิ่งนานวัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยิ่งสร้าง “ความย้อนแย้ง” ให้เกิดขึ้น
อย่างทางหนึ่งปฏิเสธว่า ไม่มีขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เพราะปัญหาความไม่สงบความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายใน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการตั้ง “คณะพูดคุยสันติสุข” เพื่อตั้งโต๊ะเจรจากับ “กลุ่มมาราปาตานี” ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน

รวมทั้งมีการ “วิ่งพล่าน” เพื่อเปิดปฏิบัติการ “พูดคุย” กับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ถึงในต่างประเทศ ซี่งปรากฏการณ์นี้ต่างหากที่เป็นเรื่อง “ตลกร้าย” ที่คนในพื้นที่ต่างขบขันกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
ที่เขียนบอกเล่ามาทั้งหมดนี้ เพียงมุ่งหวังให้ห้วงหีหน้า หรือปี 2561 เป็นปีที่ “หน่วยงานความมั่นคง” ทั้งที่ “ส่วนกลาง” และ “ในพื้นที่ มองปัญหาให้ตรงกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น อะไรที่ใช่ ก็คือ ใช่ อะไรที่ไม่ใช่ ก็ต้องยอมรับ
และที่สำคัญต้องมี “เอกภาพ ในเรื่องของ “ข้อมูล” และของ “ชุดความจริง ที่เป็นชุดเดียวกันของทุกหน่วยงาน เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดับไฟใต้
ดังนั้น ห้วงเวลาที่ควรจะได้เฉลิมฉลองในวาระส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาก็ยังต้องอยู่กับสถานการณ์ของความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่อไป
เนื่องเพราะเชื่อว่าโจรใต้ยัง “พร้อมที่จะก่อเหตุได้ทุกเมื่อ” เพื่อสร้างความสูญเสียอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเงื่อนไขพร้อม กล่าวคือ ถ้า “โอกาสมี ทางหนีพร้อม”
ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ต้องพร้อมที่จะป้องกันตนเองให้ปลอดภัย อย่าไปหวังพึ่งพาเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ยังคือ “เหยื่อ” ของโจรใต้ที่ต้องระมัดระวังตัวยิ่งกว่า ประชาชนเสียอีก
สุดท้ายไม่ว่าปฏิบัติการในรอบปี 2560 ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร ความจริงที่จริงที่สุดคือ ห้วงปีใหม่ 2561 นี้ เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหารและพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย พวกเขาก็ยังคงต้องทำหน้าที่รักษาความสงบต่อไป โดยแทบไม่มีโอกาสในการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่เหมือนใครๆ เขา

ที่สำคัญพวกเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายแทบไม่มีโอกาสในการได้อยู่ใน “อ้อมกอด” ที่อบอุ่นกับครอบครัว เพราะเขาเหล่านั้นคือ “ผู้ต้องเสียสละที่แท้จริง”

จึงขอน้อมคารวะเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

-ขบคุณคอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น