กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้แจงโครงการโรงไฟฟ้าเทพา
ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนครบทุกขั้นตอน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)
โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)
ขอเรียนให้ทราบว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ(รายงานEHIA)
เป็นโครงการของรัฐที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ
ในการพิจารณารายงานดังกล่าว สผ.
โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)
ได้พิจารณาด้วยความเป็นกลางและเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งความเห็นของ คชก.
ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ
แต่จะใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)
เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 47 แห่ง
พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป
การมีส่วนร่วมของประชาชน ในกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน
EHIA ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตลอดทุกขั้นตอน
ตั้งแต่ในการจัดทำรายงาน EHIA ซึ่งจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่
สผ. ได้มีการกำหนดในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯ
โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ
ในขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบ
ขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานฯ รวมถึงขั้นตอนการทบทวนร่างรายงานและมาตรการต่าง
ๆ เพื่อประกอบการศึกษาข้อมูลและจัดทำมาตรการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ส่วนในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA สผ.ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการสามารถจัดส่งข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลต่อโครงการให้
สผ. นำเสนอ คชก.
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ ได้ตลอด
โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการจัดประชุมพิจารณาและที่ผ่านมา คชก.
ยังได้เคยเชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริงต่อ
คชก. ในการประชุมครั้งที่ 29/2559 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559
ซึ่งเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการได้มีหนังสือแจ้งไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คชก. ก็ได้นำประเด็นข้อคิดเห็นของเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ
ด้วย นอกจากนี้ ก่อนการอนุญาตโครงการ
หน่วยงานผู้อนุญาตยังจะต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาตด้วย
ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560
สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ได้มีการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 27
มีนาคม 2560 ซึ่งจัดขึ้น 3 เวที ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่
และจังหวัสุราษฎร์ธานี
ได้มีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ข้อมูลทางเลือกพลังงานไฟฟ้า การดูแลสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็นด้วย
ขอบคุณ ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น