ควรคลอดทีวีช่องเตือนภัยพิบัติ
…….เรียนย้ำอีกครั้งว่า จนถึงเวลานี้ ผมได้รับข้อความเตือนจาก DDPM เพียงครั้งเดียวนับจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น.
DDPM ย่อมาจาก Department of Disaster Prevention and Mitigation (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ กระทรวงมหาดไทย ประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น อุทกภัย ไฟป่า แผ่นดินไหว และภัยพิบัติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ (ข้อมูลจากการค้นหาด้วย Chat GPT)
คำแจ้งเตือนที่ผมได้รับ เป็นวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม เวลา 17.13 น.โดยข้อความแจ้งมาว่า “วิธีปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อค: 1. รวบรวมสติ 2.ในบ้านให้หาที่กำบังที่แข็งแรง หนีออกจากอาคารสูง อยู่ห่างจากสิ่งที่ล้มทับได้ 3. ห้ามใช้ลิฟท์เด็ดขาด 4. อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า สอบถามโทร 1784
แต่การแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหว ไม่มีมาก่อน ทั้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและจาก กสทช.ด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่าศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังมีอยู่อีกเหลอ ยังมีอยู่ครับ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ศูนย์เตือนภัยพิบัติก็เปลี่ยนแปลงตามการเมือง
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เกิดขึ้นปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ 1 ปี ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นอยู่กับกรมอุตุนิยมวิทยา ต่อมาย้ายไปสังกัดกระทรวงดีอี
การเมืองตามมาเล่นงาน ถูกย้ายไปสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แต่สำนักงานยังตั้งอยู่ในกรมอุตุนิยมวิทยา มีเจ้าหน้าที่ของตัวเองอยู่เวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ถ้ามีเหตุด้วยสามารถเตือนภัยได้ใน 3 นาที ด้วยการแจ้งประสานไปยัง กสทช.ให้ส่งเอสเอ็มเอส ไปยังมือถือของทุกคนได้
ถ้ามีเหตุการณ์ใหญ่ระดับให้รัฐบาลตัดสินใจ หรือนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ ภายศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีห้องส่งที่หรูหรามาก สามารถออกสดได้ทันที มีอุปกรณ์พร้อม เพียงประสานไปยัง กสทช.เพื่อออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ก็สามารถทำได้ และ กสทช.ก็แจ้งขอความร่วมมือไปยังทีวีดิจิทัลให้รับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเท่านั้น
ห้องส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่กล่าวถึง เท่าที่มีประสบการณ์ทำช่องระวังภัยมาก่อน (เตือนภัยพิบัติ) ยังไม่เคยเห็นได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่มีอยู่เลย
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเป็นที่รู้จักกัน น่าจะเป็นยุค ”สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ“ เป็น ผอ.ศูนย์ เราจะได้รับการแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอสอยู่เนืองๆ แต่หลังจาก ผอ.สมศักดิ์ขยับขึ้นไปนั่งตำแหน่งอื่น ชื่อของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะหายไปจากสารบบของข่าวสาร แม้กระทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวคราวนี้ เราก็ไม่เห็นชื่อของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติปรากฏให้ได้เห็นได้ยินเลย
กสทช.(บางคน) เริ่มมีแนวคิดจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แนวเตือนภัยขึ้นมาอีก ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ช่องสัญญาณโทรทัศน์ก็มีอยู่เหลือเฟ้อ
ช่วงทำช่องระวังภัยแรกๆ แค่อยากทำข่าวอาชญากรรม (crime)อาชญากรรมเชิงซ้อน แต่เมื่อระดับอาวุโสมานั่งคุยกัน จึงแตกความคิดออกไปมาก นอกจากอาชญากรรมแล้ว ยังมีภัยพิบัติ ปัญหาชุมชนเมือง เรื่องภัยจากการบริโภคที่ควรได้รับการแจ้งเตือน
จาก crime จึงแปลงโฉมมาเป็นระวังภัย ถือกำเนิดขึ้นปี 2554 รับสถานการณ์มหาอุทกภัยพอดี ด้วย 3 บก.นั่งบริหาร กับนักข่าวแค่ 7-8 คน นักข่าวก็ทำหน้าที่ผู้ประกาศด้วย ลงพื้นที่ทำข่าวด้วย บรรดา บก.ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Nikorn Chunprom โดม สุวาวัลย์ เฉลียว คงตุก ถูกจับออกจอหมด
ที่เหลือเป็นทีมเบื้องหลังโปรดิวเซอร์ โคโปรดิวส์ ที่ถูกจับมาทำงานอย่างไม่มีประสบการณ์แนวระวังภัยมาก่อน กับห้องส่งเล็กๆ ขนาดห้องส่งวิทยุ กล้องเล็กๆ แต่เป็นระบบดิจิทัลหมด
ข้อมูลมากมาย ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศถูกจับมาใส่ในหน้าจอ การเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดจากทั่วทุกมุมเมือง ถูกจัดวางเข้าสู่ระบบออกอากาศ ไม่เว้นแม้แต่กล้องวงจรปิดของตำรวจ เขื่อน
เพียงไม่กี่เดือนกับสถานการณ์มหาอุทกภัยเอื้ออำนวยให้ ช่องระวังภัยก็แจ้งเกิดในวงการโทรทัศน์ดาวเทียมในยุคนั้น
จริงๆถ้ารัฐบาล หรือ กสทช.ตื่นรู้ถึงภัยพิบัติ ควรจะจัดสรรช่องแนวเตือนภัย ระวังภัยให้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ด้วยความไม่ตระหนักรู้ทีวีแนวระวังภัย เตือนภัยจึงไม่เกิดขึ้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังถูกทอดทิ้ง มีเจ้าหน้าที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน
ศูนย์เตือนภัยพิบัติจึงมีสภาพเป็นยิ่งกว่าลูกเมียน้อยอีก
#นายหัวไทร
#ศูนย์เตือนภัย
#แผ่นดินไหว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น