โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้ว่าฯ นราธิวาส ลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำ หลังมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยืนยันอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 17 นราธิวาส เร่งพร่องน้ำ ระบายลงทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด

ผู้ว่าฯ นราธิวาส ลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำ หลังมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  ยืนยันอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้  ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 17 นราธิวาส เร่งพร่องน้ำ ระบายลงทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด

 ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน Tel.0824154474 

 วันนี้ (22 ต.ค.67)  ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่อำเภอตากใบ ณ ท่อระบายน้ำปลายคลองลาน (เรือนแพ) หมู่ที่ 3 บ้านใหญ่ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลังมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 17นราธิวาส ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิค ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 14 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งพร่อง ระบายน้ำ ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน  โดยมีนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 นายสยาม อิ่มเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนราธิวาส ผู้แทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตาม

 

ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำล่าสุด ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้  โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 นราธิวาส ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดต่างๆ  ซึ่งในส่วนพื้นที่ จ.นราธิวาส ขณะนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง  โดยได้มีการพร่องระบายน้ำ และเตรียมการรองรับน้ำไว้พร้อม เพื่อไม่ให้น้ำจากลำคลองไหลลงสู่ที่พื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน ประกอบกับ จากการรายงานจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก


  พบว่า ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 100 มิลลิเมตรเศษ ซึ่งถือว่าในพื้นที่ยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ก็ประมาทไม่ได้ ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 ด้านนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 นราธิวาส กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 17 นราธิวาสได้เตรียมการรับมือสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องไว้ล่วงหน้า  ด้วยการพร่องน้ำตามระบบของชลประทาน โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามแผนต่างๆที่วางไว้แล้ว โดยขณะนี้ได้เร่งสูบระบายน้ำผ่านชลประทานต่างๆ ลงทะเลอ่าวไทยให้มากที่สุด โดยก่อนหน้านี้ได้มีคาดการณ์ฝนที่จะตกลงมา จึงได้มีการสูบน้ำและพร่องน้ำในพื้นที่ ล่วงหน้าไปแล้วกว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ บรรเทาสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบา


 จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ลงพื้นที่ไปยัง เขื่อนชลประทานบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก ติดตามการก่อสร้างโครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก และการเตรียมความพร้อมในจุดยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่อาจจะทำให้น้ำล้น ด้วยการเสริมกระสอบทราย(บิ๊กแบ็ค) กั้นน้ำเตรียมพร้อมไว้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ฝากถึงพี่น้องประชาชน อย่าได้รื้อหรือทำลายบิ๊กแบ็คกั้นน้ำในช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ให้ดูแลรักษาไว้ อย่าให้เกิดการเสียหาย เพราะสิ่งนี้เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบไม่ให้น้ำล้นเข้าไปยังพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่


 หลังจากนั้นจึงได้เดินทางต่อไปยังบริเวณ ท่อระบายน้ำแห่งที่ 3 (บ้านยะกัง) ม.11 ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 17 ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 14 นิ้ว  จำนวน 2 เครื่อง รวม 4 เครื่อง  เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากศูนย์ราชการ และลำคลองต่างๆ ในพื้นที่เขตอำเภอเมือง ป้องกันน้ำท่วมขังท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส และบริเวณศูนย์ราชการ 

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ระดับน้ำท่าในลุ่มน้ำ 3 สายหลัก ของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสายบุรี ,ลุ่มน้ำบางนรา  และลุ่มน้ำโก-ลก  ยังอยู่ในระดับปกติ  จึงขอให้ประชาชนและผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาวะอากาศและการแจ้งเตือน จากประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ หากประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ โทรแจ้ง หน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บ้าน หรือ สายด่วนนิรภัย 1784 ทันที

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น