โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2567

‘ประเสริฐ’ เผย สั่งปรับเอกชน 7 ล้านบาท ปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำชับปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันข้อมูลรั่วไหล สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

 ‘ประเสริฐ’ เผย สั่งปรับเอกชน 7 ล้านบาท ปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำชับปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันข้อมูลรั่วไหล สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ขณะที่  "สยาม"  ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ AI เห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อควบคุมปัญหาที่จะเกิดขึ้น



นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร หรือเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ AI

ได้เปิดเผยถึงการประชุมเมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาว่าได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 20 แล้ว 

ซึ่งได้มีข้อสรุป การทำงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาโดย มีการแบ่งการทำงานด้าน AI ทั้งหมดออกเป็น 10 กลุ่ม

โดยให้ในแต่ละกลุ่ม ได้นำเสนอถึงการดำเนินงาน หาข้อสรุปในการศึกษาแนวทางการควบคุมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นที่น่าพอใจมาก

แต่สิ่งสำคัญที่ยังต้องลงรายละเอียดและขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน คือ เรื่องของข้อกฎหมายด้าน AI

ที่บังคับใช้เฉพาะเจาะจงในกรณีการใช้ AI ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือล้วงข้อมูลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน  แม้ว่าล่าสุดจะมีตัวอย่างการเปรียบเทียบปรับหลายล้านบาท แต่ก็ยังต้องหาแนวทางควบคุมที่รัดกุมทางกฎหมายต่อไป

ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้เชิญ นายปริญญา หอมอเนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

มาช่วยอธิบายในเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ AI ที่บังคับใช้ในประเทศชั้นนำในยุโรปและเกาหลี

เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมีความปลอดภัย


ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญ 40 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับฟังสถานการณ์การใช้ AI ในประเทศไทย ที่น่าเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชน 


นายสยามฯ กล่าวว่า  AI นั้น เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ย้ำให้ 40 หน่วยงานดังกล่าว และทุกหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ได้รับรู้และตระหนักรู้ อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการใช้งาน การควบคุมและกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในปัจจุบันและอนาคต 

ทางด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหลภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปกระทำความผิดกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ว่า มีคำสั่งปรับบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยไม่มีมาตรการควบคุมตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 กำหนด 

ทั้งนี้ คำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองบริษัทดังกล่าวในอัตราสูงสุดรวม 7 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. บริษัทที่ถูกร้องเรียนได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ามากกว่า 1 แสนราย และใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบธุรกิจหลักของบริษัท แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เมื่อเกิดข้อมูลรั่วไหล บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ เป็นกรณีดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

2. ผู้ถูกร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 กำหนด ทำให้ข้อมูลรั่วไหลไปยังกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เกิดความเสียหายในวงกว้าง เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 37(1) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

3. เมื่อเกิดเหตุข้อร้องเรียนจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข และแจ้งเหตุให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเยียวยาได้ เป็นความผิดตามมาตรา 37 (4) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

นอกจากนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ยังมีคำสั่งให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลอีก รวมทั้งมีคำสั่งกำชับให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนดำเนินการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงมาตรการแก้ไขดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับคำสั่ง

"คำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองนี้เป็นฉบับแรกกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปหรือ GDPR” นายประเสริฐ กล่าว

คำสั่งปรับดังกล่าวต้องการคุ้มครองประชาชนจากปัญหากรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลที่เป็นปัญหาหลักของประเทศในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ให้ต้องดำเนินการแจ้งสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด

ข่าวโดย เหยี่ยวข่าว AI

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น