นราธิวาส-ม.นราธิวาส จับมือ ภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU
ลงนาม (MOU) ด้านการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมโมเดลแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติกรณีจังหวัดนราธิวาส เพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประสบภัย
ที่ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ด้านการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมโมเดลแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติกรณีจังหวัดนราธิวาส ระหว่างมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กับ สำนักงานจังหวัดนราธิวาส สำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส สำนักงานจัดหางานจังหวัดนราธิวาส อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ และกำนัน 3 อำเภอ 11 ตำบล
ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ในครั้งนี้ โดยมีนายสุธรรม แสงประทุมกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชาติวุฒิ ทองกัน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมมือแรงงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
คณะผู้บริหาร คณาจารย์แขกผู้ทรงเกียรติ และแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้
ทั้งนี้จากสถานการณ์วิกฤติอุทกภัยใหญ่ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 25 -27 ธันวาคม 2566 จังหวัด นราธิวาสมีภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) ทั้ง 13 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ และอำเภอระแงะ ส่งผลให้ประชาชนจังหวัดนราธิวาสได้รับผลกระทบกว่า 62,613 ครัวเรือน หรือ 266,325 คน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในเรื่องอาชีพรายได้ เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เงินทุน ที่อยู่อาศัย เด็กไม่สามารถเรียนหนังสือได้ ภาวะ จิตใจที่ได้รับผลกระทบ ความวิตกกังวลต่างๆนั้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และภาคีเครือข่ายจึงมีความมุ่งมั่นเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสโดยจัดทำบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยฯอุทกภัยผ่าน 3 กระบวนการหลัก คือ ที่มีเจตนารมณ์สำคัญในการมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
1.เพื่อพัฒนาทักษะครัวเรือนยากจน จำนวน 1,200 ครัวเรือนและ 200 คนในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งประกอบด้วยทักษะการเดินสายไฟภายในบ้าน การซ่อมแซมงาน ก่อสร้างบ้านเรือน อาหารฮาลาลปรุงสำเร็จรูป และซ่อมแซมจักรยานยนต์และเครื่องมือทางการเกษตร
2.เพื่อใช้เครื่องมืออุปกรณ์ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส
3.เพื่อออกแบบหลักสูตรระยะสั้นร่วมกันซึ่งนับเป็นการร่วมแรงร่วมใจ ระดมทรัพยากรในการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยอย่างตรงเป้า รวมถึงเสริมสร้างพลังความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานเพื่อสร้างรายได้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทั้งในระยะเร่งด่วน เฉพาะหน้า และการให้การดูแลช่วยเหลือติดตามอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่องแนวทางการสนับสนุนการเพิ่มทักษะอาชีพด้านคุณภาพชีวิตภายในส่วนงานราชการ โดยว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และการบรรยายพิเศษในหัวข้อบทบาทของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านทักษะอาชีพ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ด้วย
ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น