โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

จับตา…แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ระบบคุณธรรมจะด่างพร้อย ถ้ายังพยายามดันอาวุโสน้อยสุดขึ้น มาอีก(มีคลิป)

 จับตา…แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ระบบคุณธรรมจะด่างพร้อย ถ้ายังพยายามดันอาวุโสน้อยสุดขึ้น มาอีก(มีคลิป)






ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะว่างลงในเดือนตุลาคม 2567 นี้ เนื่องจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จะเกษียณอายุราชการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.)จึงต้องสรรหา ผบ.ตร.คนใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่ง กตร.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอชื่อให้ กตร.พิจารณา


ในปัจจุบัน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสสูงสุด เกษียณกันยายน 2567 ดูเหมือนชีวิตข้าราชการตำรวจกลายเป็น "ผู้ให้" และจำยอมหลีกทางให้ รอง ผบ.ตร.คนอื่นที่มีอาวุโสน้อยได้ไต่ขึ้นไปชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. อยู่ร่ำไป


เมื่อกันยายน 2566 พล.ต.อ.รอย มีสิทธิชอบธรรมตามหลักอาวุโส ซึ่งเป็นระบบคุณธรรมของการเติบโตในสายงานราชการตำรวจที่ควรได้รับคัดเลือกให้เป็น ผบ.ตร. แล้วชีวิตของเขาเหมือนถูกสาปจนจำต้องหลีกทางให้ รอง ผบ.ตร. อาวุโสน้อยกว่า แต่เส้นใหญ่สุดปาดหน้าไปเป็น ผบ.ตร. อย่างน่าชื่นอกตรมมาแล้ว


ภาพสะท้อนอาการ "ผิดหวัง" ในระบบคุณธรรมตำรวจที่พยายามเดินหลีกหนีระบบเส้นสายเบียดแทรกพุ่งพรวดไปเป็น ผบ.ตร.นั้น ในวันที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ประชุมพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.รอย ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย


คงไม่ใช่วาสนา พล.ต.อ.รอย ไม่ถึง ผบ.ตร. แต่ระบบคัดเลือกที่ขาดคุณธรรม และถูกกลุ่มอำนาจไม่ยึดบรรทัดฐานตามกฎหมายขัดขวางไม่ให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งปรารถนาของนายตำรวจยศ "พล.ต.อ." ซึ่งไต่เต้าจนมีสิทธิไขว่คว้าได้ แล้วระบบคุณธรรมก็ถูกอำนาจอื่นมาทำให้วงการตำรวจด่างพร้อยซ้ำซากอีก


ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไร้โอกาสไปถึง ผบ.ตร.แล้ว พล.ต.อ.รอย ที่อยู่ในวงการตำรวจมาทั้งชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวจากอำนาจการเมืองกดทับจำเจ แน่นอนชีวิตตำรวจที่เหลืออยู่ เขาย่อมต้องการเกษียณในตำแหน่งสุดท้ายของงานตำรวจในกันยายนปี 2567 


แล้ว พล.ต.อ.รอย กลายเป็น "ผู้ให้" ต้องยอมหลีกทางอีกครั้ง ขณะที่เวลาจะเกษียณเหลืออีก 8-9 เดือน เขาต้องถูกมติ ครม.ให้ย้ายขาดจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.สูงสุดที่หมดโอกาสได้เป็น ผบ.ตร.แล้ว ไปเป็น "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ว่างเว้นอยู่


ดูเหมือนรัฐบาลเชิดชูเอออวยว่า พล.ต.อ.รอย มีความเหมาะสม มากความรู้ (แต่ไม่ได้เป็น ผบ.ตร.ตามระบบคุณธรรม) ในตำแหน่ง เลขา สมช. ก็ว่ากันไป ส่วนด้านลึกที่ไม่ยกยอกันนั้น คือ คำสั่ง "ย้ายไปที่ใหม่" เป็นการเปิดทางให้ รอง ผบ.ตร.ว่างลง แล้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโสสูงคนหนึ่งจะได้มีที่ลงในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เพื่อบ่มเพาะให้ไปเป็นคู่ชิง ผบ.ตร. คนใหม่ที่จะแต่งตั้งช่วงสิงหาคม-กันยายน 2567 


อย่ากระพริบ ดันอาวุโสน้อยสุด ข้ามหัว “บิ๊กโจ๊ก”


ว่ากันว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโส ยศ "พล.ต.ท."ตามหลักเกณฑ์การเลื่อนชั้นครองยศ "พล.ต.อ." ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. คือ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข นรต.รุ่น 39 เกษียณกันยายนปี 2568 ขึ้นมาเป็น รอง ผบ.ตร.ที่ว่างลง


ผู้สันทัดกรณีระดับเขี้ยวล้วนปักใจเชื่อตรงกันว่า พล.ต.ท.ประจวบ คือ ผู้ชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนใหม่กับ รอง ผบ.ตร.ที่อยู่ในโผมีสิทธิเป็น ผบ.ตร.ทั้งหมด ซึ่งเหลืออยู่อีก 4 คน เรียงลำดับอาวุโสในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ดังนี้


พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณปี 2574 พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569 พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช เกษียณปี 2567 และ พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ เกษียณปี 2569 ขณะที่ พล.ต.ท.ประจวบ เกษียณปี 2568 และเมื่อได้เลื่อนยศเป็น พล.ต.อ. ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. จะมีอาวุโสน้อยสุด


การประเมินว่า แม้ พล.ต.ท.ประจวบ มีอาวุโสน้อยสุดก็ตาม แต่จะสามารถไขว่คว้าตำแหน่ง ผบ.ตร. มาครองได้เช่นกัน เพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ล่าสุดเมื่อกันยายน 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้มีอาวุโสรั้งบ่วยสามารถทำได้สำเร็จมาแล้ว และเป็น ผบ.ตร.คนปัจจุบันซึ่งจะเกษียณกันยายนปี 2567 


การปักใจเชื่อมั่นเช่นนั้น ส่วนสำคัญมาจากแรงผลักดัน 2 ส่วนทั้งมีกฎหมายและเป็นอำนาจการเมืองต้องการ โดยด้านกฎหมายอ้างถึง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 77 (1) ซึ่งผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ไม่เกี่ยวกับหลักอาวุโสแต่อย่างใด นั่นเท่ากับสะท้อนระบบคุณธรรมเป็นปัจจัยเล็กน้อยที่จะถูกคัดเลือกให้เป็น ผบ.ตร.


มาตรา 77 (1) ระบุว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


แน่ละเมื่อพิจารณาเพียงชั่วเวลาลมผ่านวูบแล้ว มาตรา 77 (1) ไม่ได้ระบุถึงหลักอาวุโสให้เป็น ผบ.ตร. ซึ่งเป็นความจริง แต่หากพิจารณาประกอบกับมาตรา 78 (1) ระบุหลักเกณฑ์คัดเลือกตำรวจยศ พล.ต.อ.ไปเป็น ผบ.ตร. ไว้ดังนี้


"การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง"


โปรดสังเกตุว่า มาตรา 78 (1) กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือก รอง ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร.ตามมาตรา 77 (1) นั้น ได้เน้นถึงระบบอาวุโสมาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย และไม่ต้องตีความให้ซับซ้อนอีกเลย เพราะคำว่า "คำนึงถึงอาวุโส..." ย่อมไม่เท่ากับ "ผู้มีอาวุโสน้อยสุด" ต้องได้เป็น ผบ.ตร.


ดังนั้น การคำนึงถึงหลักอาวุโสจึงแปลเป็นอื่นไม่ได้ โดยต้องเคร่งครัดถึงระดับอาวุโสที่มากกว่าคนอาวุโสน้อยสุดจึงควรถูกคัดเลือกให้ได้เป็น ผบ.ตร. เพราะจะเป็นที่ยอมรับของข้าราชการตำรวจ และนี่คือ “ระบบคุณธรรม” ส่วนคนมีอาวุโสน้อยสุดได้เป็น ผบ.ตร.จึงแสดงถึงส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของอำนาจการเมืองผลักดัน


หากอำนาจการเมืองหนุนดันยศ พล.ต.อ.อาวุโสน้อยสุดเป็น ผบ.ตร. แล้วนายกฯ คัดเลือกหยิบชื่อส่งให้ ก.ตร.พิจารณา พร้อมล็อบบี้ให้แต่งตั้ง ด้วยพฤติการเช่นนี้ย่อมเป็นการทำให้ระบบคุณธรรมด่างพร้อย ข้าราชการตำรวจย่อมอ่อนโรยในการทำหน้าที่ แล้วเสียงสังคมก็ดังกระหึ่มกระตุ้นให้ปฏิรูปตำรวจพ้นจากระบบเส้นสายของการเมืองต้องการ


กล่าวอย่างแจ่มชัดเฉพาะ พล.ต.ท.ประจวบ หากได้เลื่อนยศมาเป็น พล.ต.อ.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เขาจะมีอาวุโสน้อยสุดเพียงเป็น รอง ผบ.ตร.ตั้งแต่การโยกย้ายปกติเมษายนถึงได้รับโปรดเกล้าฯ กระทั่งถึงสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.กับรอง ผบ.ตร.คนอื่นคึกคัก ลุ้นระทึก แต่เขามีอาวุโสประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น 


ด้วยอาวุโสน้อยสุดเช่นนี้ หากทะลุไปถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในกันยายนปี 2567 ความครหาได้เพราะอำนาจการเมืองผลักดัน โดยเป็นอำนาจการเมืองที่ พล.ต.ท.ประจวบ คุ้นเคยพื้นที่เชียงใหม่ แล้วอาจมีสัมพันธ์กับนักการเมืองเชียงใหม่ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคเพื่อไทยต้องการให้เป็น ผบ.ตร


ดังนั้น ศักดิ์ศรีของ พล.ต.ท.ประจวบ ย่อมมั่วหมองด้วยเส้นสายของอำนาจนัการเมือง ถูกกล่าวหาเป็นตำรวจที่ทำให้ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจด่างพร้อย แต่ถึงที่สุดเขาอาจไม่ต้องการเป็นตำรวจด้วยระบบเส้นสายก็ได้


การคาดหมายว่า พล.ต.ท.ประจวบ คือ ผบ.ตร.ในอนาคต มาจากผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์เอาทางภววิสัยที่เป็นตำรวจภาค 5 มาก่อน เป็นคนจัดระเบียบรอรับทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 แล้วประเมินว่า อำนาจการเมืองต้องการให้เป็น ผบ.ตร.


แต่ด้านลึกที่เป็นอัตวิสัยแล้ว พล.ต.ท.ประจวบ ย่อมไม่ต้องการ ผบ.ตร.ด้วยทางลัดตามอำนาจการเมืองก็เป็นไปได้ เพราะเขารู้ตัวเองว่า อาวุโสใน รอง ผบ.ตร.เพียง 5-6 เดือนมันน้อยนิดที่เป็น ผบ.ตร.ด้วยระบบคุณธรรมและทำให้องค์กรตำรวจภาคภูมิใจได้ 


ดังนั้น ยังมีเวลาและปัจจัยแห่งอนาคตอีกที่จะประเมินและฟันธงว่า พล.ต.ท.ประจวบ เมื่อได้เลื่อนยศเป็น พล.ต.อ.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. คือ ผบ.ตร.ตามอำนาจการเมืองเพื่อไทยหมายปองไว้หรือไม่


โปรดย้อยรอยศึกษาอำนาจแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. คนที่ 8 เมื่อ 26 ตุลาคม 2554–30 กันยายน 2555 ล้วนละม้ายคล้ายคลึงกับการย้าย พล.ต.อ.รอย ไปเป็น เลขา สมช.ยิ่งนัก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น