โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566

อย่าทน! กลไกรัฐพิการ เพื่อนบ้านซ่อนดาบในรอยยิ้ม คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… #ไชยยงค์มณีพิลึก

 อย่าทน! กลไกรัฐพิการ เพื่อนบ้านซ่อนดาบในรอยยิ้ม

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… #ไชยยงค์มณีพิลึก



แม้รัฐบาลจะแสดงออกอย่างคึกคักในการแต่งตั้ง "คณะพูดคุยสันติสุข" แต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองเห็นว่า ยังไม่ใช่ “งานง่าย” สำหรับการจะแก้วิกฤต “ไฟใต้” ทั้งในด้านความมั่นคงและการพัฒนา เพราะปรากฏว่า เสียงตอบรับจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับ “ไม่ปัง” อย่างที่ควรจะเป็น


ไม่มีเสียงตอบรับจากภาคประชาสังคม แม้กระทั่งที่อยู่ใต้ปีกทางการเมืองขอบีอาร์เอ็น ทั้งที่คณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่มีหัวหน้าคณะเป็น “พลเรือน” โดยมีตำแหน่งเป็นถึงรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)


ไม่เพียงเท่านั้น การเร่งเครื่องเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยกลับไม่มี ทั้งแถลงการณ์หรือแค่เสียงตอบรับจากฝ่ายบีอาร์เอ็น แถมความเคลื่อนไหวจัดตั้งคณะพูดคุยเพื่อเตรียมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทยก็ไม่ปรากฏเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา


การที่คนไทยได้รัฐบาลพลเรือนมาแทนที่รัฐบาลทหาร โดยเฉพาะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ นายศรษฐา ทวีสิน  ไม่ต้องมียศ “นายพล” นำหน้า อันถือได้ว่าหลังสังคมไทยถูกกดทับมานาน รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นความหวังของคนทั้งชาติได้ แต่สำหรับวิกฤตไฟใต้กลับไม่มีอะไรใหม่ที่จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เลย


ก่อนหน้านี้ เมื่อรัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยสันติสุขคราใด ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นแทบทันที ขณะที่บรรดา “กูรู” ไม่ว่าจะนักวิชาการ นักการทหาร สื่อหรือผู้ที่สนใจไฟใต้ก็จะออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ แล้วมักตามด้วยซุ่มเสียงให้บีอาร์เอ็นต้องแต่งตั้งตัวแทนที่เป็น “ตัวจริง” มาเจรจาด้วยเท่านั้น


เช่นต้องการเห็น "กาแม เลาะเว"  หรือ ฆอซาลี  หรือ อิหม่ามสะปอม  ที่เชื่อว่าเป็น “ประธาน” รวมถึง "นิเซะ นิฮะ" หรือ เปาะนิอาซิ ที่เชื่อว่าเป็น “เลขาธิการ” กระทั่ง อิหม่ามเฮง เจาะไอร้อง กับ บือราเฮง ปะจุศาลา ที่เชื่อว่าเป็นแกนนำตัวจริง คนใดคนหนึ่งก็ได้ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์อ็น เป็นต้น


โดยเฉพาะไม่ต้องการเห็นว่า ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้นไม่นาน ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ประกาศปลดคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายตนออกจากการเป็น “แกนนำ” ของขบวนการ เพราะนั่นเท่ากับต้องการประกาศว่า คนที่บีอาร์เอ็นส่งมาเจรจากับตัวแทนรัฐไทย “ไม่ใช่ตัวจริง” หรือไม่มีอำนาจตกลงใจในเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจา


อีกประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนมองเห็นคือ การเจรจาครั้งต่อไป “สาระ” และ “เงื่อนไข” ยังจะยึดโยงกับที่คุยกันมาโดยตลอดหรือไม่ ซึ่งช่วงเวลา 9 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ได้ถูกมองว่า การเจรจาได้เดินไปถึง “ทางตัน” และถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นต่างเล่น “ปาหี่” ด้วยกันนั่นเอง


ในวันนี้ที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข เขาเองก็ยังถูกมองว่าเป็นตัวแทน “อำนาจเก่า” เพราะเคยร่วมในคณะพูดคุยภายใต้ทหารนำมาตลอด หากการเจรจาครั้งใหม่ยังยึดโยง “สาระ” และ “เงื่อนไข” เดิม ๆ ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร


ดังนั้น ต้องติดตามดูว่า คณะพูดคุยสันติสุขของไทยจะมี “ท่าที” และ “ถ้อยแถลง” ต่อการเจรจาครั้งใหม่จนสร้างความหวังได้หรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามดูการทำความเข้าใจกับ “กลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่” โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ในฐานะ “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง


ประเด็นการทำความเข้าใจกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่เป็นหน้าที่โดยตรงของ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์  แม่ทัพน้อยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค  แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 ให้นั่งควบในฐานะ ผอ.ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก


เวลานี้ นายฉัตรชัย บางชวด ในฐานะ หัวหน้าคณะเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ยังไม่มีถ้อยแถลงใดๆ ต่อสังคม ขณะที่ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำความเข้าใจกลุ่มกับผู้เห็นต่างในพื้นที่ ก็ยังอยู่ระหว่าง “ตั้งไข่” ให้ศูนย์สันติวิธี ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง


ในส่วนของงานการพัฒนาและสังคมจิตวิทยา ที่รับผิดชอบโดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์  เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม้ถือเป็นผู้บริหารที่ยังหนุ่มแน่น แต่ก็เพิ่งถูกโอนย้ายข้ามห้วยมาจากกระทรวงยุติธรรม


สำหรับงานการพัฒนาและสังคมจิตวิทยาเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของมาตรการดับไฟใต้ และถือเป็นความหวังของคนในชายแดนใต้ด้วย เพราะมุ่งเน้นการ “พัฒนาพื้นที่” ควบคู่กับ “พัฒนาคน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่เวลานี้ก็มากมายไปด้วยอุปสรรคเช่นกัน


พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ หรือ ปลัดบิลลี่ แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่คงปรับตัวได้รวดเร็วกับหน้าที่การงานใหม่ แต่ปัญหาสำคัญกับอยู่ที่จะฟื้น “ความเชื่อมั่น” ให้หน่วยงานกลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้อย่างไร ซึ่งในอดีตคนชายแดนใต้ถึงกลับเคยกล่าวขวัญกันติดปากว่า “ศอ.บต.ของเรา”


ก็คงไม่ง่ายที่จะผลักดันให้ ศอ.บต.กลับมาเป็น “หน่วยงานอิสระ” เหมือนในอดีต หลังจากถูกรัฐบาลท็อปบูตที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารใช้ “คำสั่ง คสช. 3 ฉบับ” ทั้ง “กดทับ” และ “บอนไซ" ให้หน่วยงานพลเรือนกลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานทหารอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า


ทั้งที่ ศอ.บต.มีความสำคัญและมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานมาก จนถึงขั้นรัฐสภาออก พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 หรือ “พรบ.ศอ.บต.” มารองรับให้มีอำนาจ บทบาทและทำหน้าที่ได้เหมือน “รัฐบาลท้องถิ่น” ของแผ่นดินปลายด้ามขวาน


กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา ศอ.บต. ทำหน้าที่เหมือนกับ “สภาท้องถิ่น” ชี้แนะและกลั่นกรองนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสังคมไทย


ภายหลังถูกกดทับและบอนไซทำให้เกิดปัญหาและเรื่องราวเล่าขานขึ้นกับ ศอ.บต.มากมาย แถมยังถูกปล่อยให้หมักหมมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เงื่อนปมปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนในหน่วยงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่มานมนานด้วยเช่นกัน


ล่าสุดระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียกระชับความสัมพันธ์กันที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ถือเป็นโอกาสดีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รองนายกฯ ทำหน้าที่กำกับดูแล ศอ.บต.และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้ร่วมหารือกับรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถึงการพัฒนาและแก้ปัญหาไฟใต้


ดูเหมือนจะพอมีหวังขึ้นมาก็จริง แต่ก็ไม่ง่ายนัก ที่สำคัญต้องใช้อดีตเป็นบทเรียนมากค่า หลายสิบปีมาแล้วที่ไทยเคยช่วยมาเลเซียแก้ปัญหาการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาสำเร็จ แต่หลายสิบปีเช่นกันที่ไทยเคยขอให้มาเลเซียช่วยแก้ปัญหาไฟใต้ ซึ่งก็จวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะประสบผลสำเร็จ


สำหรับใน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่ดำเนินต่อเนื่องนับสิบปีมาแล้วก็เช่นเดียวกัน มาเลเซียยังได้รับหน้าที่ “คนกลาง” หรือ ผู้อำนวยความสะดวกการเจรจามาตลอด ทว่าคนไทยก็ยังแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อยสำหรับทุกมาตรการดับไฟใต้


ดังนั้นทั้งเรื่อง “ความมั่นคง” และ “การพัฒนา” เพื่อแก้วิกฤตไฟใต้จึง “ไม่ง่ายเลย” ตราบใดที่กลไกรัฐของไทยเราเองยังทำหน้าที่แบบพิกลพิการ 


อีกทั้งยังปล่อยให้มาเลเซียทำหน้าที่เพื่อนบ้านในแบบที่ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม” ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ !!


#Agenda #จุดคบไฟใต้ #จังหวัดชายแดนภาคใต้ #กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า #กอรมนภาค4ส่วนหน้า #คณะพูดคุยสันติสุข #สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น