โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566

คืนชีวิต ศอ.บต. เลิกอยู่ใต้ กอ.รมน. ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯตัวแทนชาวบ้าน (มีคลิป)

 คืนชีวิต ศอ.บต. เลิกอยู่ใต้ กอ.รมน. ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯตัวแทนชาวบ้าน (มีคลิป)

ประพันธ์  ฤทธิวงศ์ บก.เดลิมิเร่อร์@ปลายด้ามขวานชายแดนใต้/รายงาน

สส.ปลายด้ามขวาน รุมวิจารณ์รายงาน สมช. “ร่างนโยบายดับไฟใต้” ฉะเขียนสวยหรูเหมือนรู้ปัญหา แต่ล้มเหลวในทางปฏิบัติ จี้คืนชีวิต ศอ.บต.เป็นอิสระจาก กอ.รมน.หลังโดนรื้อโครงสร้างยุคทหารครองเมือง พร้อมยกเลิกคำสั่ง คสช. ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯ ที่เลือกตั้งจากประชาชนทุกภาคส่วนกลับมา


    ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 27 ( สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ) มีวาระพิจารณาร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ส. 2565-2567 และร่างแผนการปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2566 – 2570 ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย สส.หลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายวิจารณ์และเสนอแนะกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ สส.จากจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มี สส.ได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่มากที่สุดถึง 7 คน จากจำนวน สส.ทั้งหมด 13 คน

      ในการอภิปรายมี สส. 4 คนจากพรรคประชาชาติร่วมแสดงความเห็นด้วย ได้แก่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส, นายวรวิทย์ บารู สส.ปัตตานี, นายอับดุลอายี สาเม็ง สส.ยะลา และนายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา นอกจากนั้นยังมี สส.จากพรรคอื่นอภิปรายสลับอีกหลายคน สรุปเนื้อหาและข้อเสนอแนะได้ดังนี้

    1.แผนของ สมช. เป็นนโยบายที่สวยหรูเหมือนจะรู้ปัญหา แต่พอปฏิบัติจริงทำไม่ได้ ล้มเหลว แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

    2.กรณีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบหมายให้ สมช.เป็นผู้เสนอให้ยกเลิกรายอำเภอ แต่กลับไปฟัง กอ.รมน.ที่เป็นหน่วยปฏิบัติ

   3.เสนอแนะให้นโยบายภาคปฏิบัติที่นำมาใช้ในแผนฯ ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้

    4.บทบาทของ ศอ.บต. ช่วงการกำหนดนโยบายให้เน้นการมีส่วนร่วม แต่พอปฏิบัติจริง ทำแค่คนส่วนเดียว ไม่มีส่วนร่วมเหมือนตอนกำหนดนโยบาย

   5.ศอ.บต.ต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่อยู่ภายใต้ กอ.รมน. เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหา

   6.ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษาจากการแต่งตั้ง แล้วนำสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนกลับคืนมา

  7.ศอ.บต.อย่าทำตัวเป็นอีก 1 จังหวัด แต่ต้องคิดและทำในเรื่องใหญ่ๆ ไม่ใช่ไปแย่งงานจังหวัดทำ

  8.ก๊าซธรรมชาติพื้นที่ “เจดีเอ” (พื้นที่พัฒนาร่วม “ไทย-มาเลเซีย”) อยู่ในเขต จ.ปัตตานี ใกล้เกาะโลซิน มีการดึงทรัพยากรธรรมชาติจากในพื้นที่ไปใช้ แต่คนพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กลับยังยากจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศ  

  9. ให้หน่วยงานความมั่นคงเข้าใจอัตลักษณ์การแต่งกายชุดมลายู เลิกระแวงกล่าวหาเป็นพวกแปลกแยก

   10.เจ้าหน้าที่บางส่วนที่มีความขัดแย้งกับประชาชน หยุดใช้ความขัดแย้งมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างปัญหา

  11.ปัญหาอิทธิพล ยาเสพติด ธุรกิจสีเทา มีผลกระทบกับประชาชนมากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบ

   12. ปัญหาเรื่องการศึกษา ในรายงาน สมช.ระบุว่า สามจังหวัดต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ไม่มีงบอุดหนุนยกระดับโรงเรียนระดับอำเภอให้เจริญทัดเทียมระดับจังหวัด รวมถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหลายแห่งก็เข้าไม่ถึงงบสนับสนุนรายหัวจากรัฐ และไม่มีงบประมาณให้โรงเรียนตาดีกา

   นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “กลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์เชื่อมโยง ตรงนี้สำคัญ เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ สมช. ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกับพี่น้องประชาชน สำคัญมากกว่าปัญหาความมั่นคง เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เสียอีก”

   “และที่สำคัญที่สุดวันนี้ การลักลอบทำผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อนชายแดน นี่คือสิ่งที่บั่นทอน ทำให้เกิดความเดือดร้อน ถ้าปล่อยปละละเลยให้มีธุรกิจสีเทาเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ความรุนแรงจะยิ่งเกิด ไม่มีทางจะสงบสุขได้”

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น