“เศรษฐา” จ่อมอบ “ทวี” รับภารกิจดับไฟใต้-ศอ.บต.@@ เล็งปรับภารกิจ ศอ.บต. – ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯ @@ ศอ.บต.โดนร้องอื้อ ต้นเหตุแนวคิด “ปรับภารกิจ” @@ ลุยแก้หนี้-ปฏิรูปคุก-ปราบยา-เจรจาดับไฟใต้ (ชมคลิป)
หากนับเฉพาะสายงานความมั่นคง ไม่เพียงแค่
“รัฐมนตรีกลาโหม” ที่ถูกตั้งคำถามว่า “ผิดฝาผิดตัว” หรือไม่ แต่
“รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” จะเป็นใคร ดูจะคาดเดายาก ทั้งๆ
ที่รองนายกฯคนนี้จะรับผิดชอบภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาร่วม
2 ทศวรรษด้วย และต้นปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ 20 ปีไฟใต้
แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่คลี่คลาย
แถมโหมกระหน่ำหนักในบางช่วงเวลาเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นเหตุโจมตีชุดลาดตระเวนร่วม
“ตำรวจ-อส.” ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อกลางดึกของวันที่ 28 ส.ค.66
ทำให้กำลังพลพลีชีพถึง 4 นาย บาดเจ็บอีกนับสิบ
มีรายงานว่า เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ จะเป็นคนจากส่วนกลางซึ่งมีประสบการณ์สูง
ผ่านงานระดับอธิบดีมาหลายกรม โดยตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. อยู่ในระดับ 11 หรือ “ซี
11” เท่ากับปลัดกระทรวง
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยเรื่องนี้ ว่า แผนงานในรายละเอียดต่างๆ
คงต้องรอสัญญาณจากนายกฯเศรษฐา แต่หากได้รับผิดชอบกำกับดูแล ศอ.บต.
ตนจะปรับภารกิจให้เน้นงานด้านพัฒนาเป็นหลัก แต่ต้องไม่ทำเอง ไม่เป็นหน่วย operation
แต่จะเน้นควบคุม กำกับ ดูแล และประสานงานแบบบูรณาการ โดยงานที่จะทิ้งไปไม่ได้คือ
“ความยุติธรรม” เพราะเป็นจุดเด่นที่สุดของหน่วยงาน ศอ.บต.
นอกจากนี้ จะมีการรื้อฟื้น “สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.” ขึ้นมา
เพราะพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.
เขียนไว้ดีมาก โดยสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำศาสนา
ตัวแทนคนพุทธ คนมุสลิม รวมไปถึงภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักสิทธิมนุษยชน
แต่ที่ผ่านมา คสช.ไปออกคำสั่งปลดสมาชิกสภาที่ปรึกษาชุดเดิม แล้วไปคัดเลือกใหม่
เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้ามามีบทบาท ทำให้ไม่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
@@ ศอ.บต.โดนร้องอื้อ
ต้นเหตุแนวคิด “ปรับภารกิจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต.ทำงานด้านการพัฒนา โดยใช้วิธีลงมือทำเอง
เปิดประกวดราคา และจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษด้วยตัวเอง ทำให้หลายๆ โครงการมีปัญหาถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส
เพราะพื้นที่ชายแดนใต้ใช้การจัดจ้างวิธีพิเศษ ไม่ต้องประกวดราคา
ตามข้อยกเว้นของกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง
การจัดซื้อจัดจ้างหลายๆ
โครงการไม่ต้องเปิดประมูล แต่ใช้วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง
แต่ผลที่ตามมากลับเป็นในด้านลบ
เพราะบางโครงการถูกตรวจสอบจากหลายฝ่ายเนื่องจากเข้าข่ายทุจริต ไม่โปร่งใส
หรือตัดสินใจทำโครงการโดยไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร
โครงการที่มีปัญหาจนถูกสั่งยุติกลางคันก็เช่น
ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาตู้ละกว่า 5 แสนบาท แพงกว่ารถยนต์อีโคคาร์ 1
คันเสียอีก, เสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ
”เสาไฟโซลาร์เซลล์” งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
มีการตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางไปตรวจสอบและพบว่ามีปัญหาจริง กระทั่งคณะกรรมการ
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่
ก็มีปัญหาอย่างมาก หลายแห่งไม่มีใครเข้าไปเล่นฟุตซอล กลายเป็นสนามเลี้ยงวัว
ยังไม่นับการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ
“เมกะโปรเจก” ที่กลายเป็นความขัดแย้งระดับพื้นที่ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
“เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา
ที่มีม็อบบุกทำเนียบรัฐบาลหลายครั้งในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
@@ ลุยแก้หนี้-ปฏิรูปคุก-ปราบยา-เจรจาดับไฟใต้
พ.ต.อ.ทวี ยังบอกถึงนโยบายที่จะทำในฐานะ
รมว.ยุติธรรมป้ายแดง ว่า ต้องทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะระยะหลังๆ มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็มีนโยบายแก้
“หนี้ที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ในกระทรวงยุติธรรม
และยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง “กรมบังคับคดี”
อยู่ในโครงสร้างของกระทรวงด้วย
สำหรับ “หนี้ที่ไม่เป็นธรรม”
ซึ่งกำลังมีปัญหาอย่างมาก ก็เช่น หนี้ กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว ให้ลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่ทาง
กยศ.ก็ยังไม่ออกระเบียบมารองรับตามกฎหมายใหม่ ยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในอัตราเดิม
ทำให้ผู้กู้เดือดร้อน ทั้งๆ ที่ผู้กู้เป็นคนขยัน ใฝ่เรียน สมควรสนับสนุน
ไม่ใช่ถูกบังคับให้เป็นหนี้
ในส่วนของกรมราชทัณฑ์
กรมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดของกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี บอกว่า
มีแผนศึกษาเรื่องแยกกลุ่มผู้ต้องขัง ไม่ให้ขังรวมกันจำนวนมาก
โดยไม่แยะประเภทของนักโทษ เช่น ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี
คือคดียังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่ใช่ “นักโทษเด็ดขาด” กลุ่มนี้ต้องแยกขัง
ไม่ควรขังรวมกับนักโทษเด็ดขาด อาจมีโครงการใช้พื้นที่เอกชนเป็นสถานที่คุมขัง
ให้นอนรวมกันแค่ 3-4 คน ไม่ใช่นอนกันเป็นร้อยเหมือนในเรือนจำ
และมีอาหารให้รับประทาน โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน
เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้ว คนกลุ่มนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิด
จึงต้องไม่ปฏิบัติกับเขาเสมือนหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิด
อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหน้างานของกระทรวงยุติธรรมเช่นกัน
ก็คือ งานปราบปรามยาเสพติด เพราะสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงตาชั่ง
พ.ต.อ.ทวี บอกว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเห็นผลถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน
ทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนเดือดร้อนมาก
และร้องเรียนเข้ามามากว่ายาเสพติดระบาดหนักจริงๆ
นอกจากนั้นยังมีแนวคิด “ยืมตัว” นายตำรวจที่เก่งงานด้านปราบปราม
มารับผิดชอบงานที่สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้งานปราบยาเสพติดประสบผลสำเร็จมากขึ้นด้วย
ส่วนงานพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ พ.ต.อ.ทวี
ซึ่งเคยเป็นแกนนำคณะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ในรัฐบาล
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่า ต้องรื้อกระบวนการพูดคุยใหม่
โดยตั้งประเด็นขึ้นมาให้ชัดเลย อาจจะมี 4-5 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการปกครอง
แล้วดึงทุกฝ่ายมาร่วมหารือ เพื่อตกผลึกให้ได้ในแต่ละประเด็น
เนื่องจากใช้วิธีพูดคุยภาพรวมเหมือนที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า
และไม่มีประเด็นไหนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนำร่องได้เลย
Niศูนย์ข่าวใต้/รายงาน ประพันธ์ ฤทธิวงศ์ บก.นสพ.เดลิมิเร่อร์ออนไลน์@ปลายด้ามขวานชายแดนใต้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น