โครงการสานใจไทยสู่ใจใต้เตรียมจับมือสถาบันปอเนาะกว่า 130 แห่ง ใน จชต. เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างภาครัฐกับประชาชน (มีคลิป)
ยะลา - นายอารีย์ วงศ์อารยะ รองประธานอำนวยการ โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ เผย เตรียมจับมือสถาบันปอเนาะกว่า 130 แห่ง ใน จชต. เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างภาครัฐกับประชาชน ร่วมสร้างความเข้าใจในทุกมิติ เพราะสถาบันปอเนาะ คือวิถีชีวิตของชุมชนมั่นใจจะช่วยพัฒนาคนและสร้างสังคมสู่ความสันติสุขได้
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2566) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รองประธานอำนวยการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 41 พร้อมด้วยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และคณะกรรมการโครงการ ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนระดับจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุมเพื่อเตรียมคัดเลือกเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 41
สำหรับ โครงการ"สานใจไทย สู่ใจใต้" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทัพทุกเหล่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
นำเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวอุปถัมภ์ และชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรง และมีความรู้ ความเข้าใจ บริบทของสังคมประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โครงการ"สานใจไทย สู่ใจใต้" ได้ดำเนินการรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
ในการนี้ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รองประธานอำนวยการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” กล่าวว่า การดำเนินงานของ สานใจไทย สู่ใจใต้ ในอนาคต จะร่วมกับสถาบันปอเนาะ เพื่อการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น พร้อมจะพัฒนาเยาวชน ชุมชน ให้มีการสร้างความเข้าใจในทุกมิติ เพราะสถาบันปอเนาะ คือวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ในชุมชน โดยมีท่านบาบอเป็นประธานสถาบันปอเนาะ เป็นผู้มอบความรู้ สร้างคนดี ให้มีคุณภาพ หลังจากนี้ไปสถาบันปอเนาะจะเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างสังคมให้เยาวชนเป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ ภายใต้หน่วยงานราชการในพื้นที่ อยู่เบื้องหลังในการช่วยเหลือ เพราะนี่คือแนวความคิดของ ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี / ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้"
เป็นผู้ดำริฯ และได้ฝากมาให้ชี้แจงแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนเข้าใจร่วมกัน ในส่วนของการอบรมเยาวชน 1 ปีสามารถรับสมัครได้ 320 คนเท่านั้น แต่ทางคณะกรรมการได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันว่า จะเปิดรับสมัครเยาวชนเพิ่มเติมในภาคอันดามัน 5 จังหวัด ในรูปแบบการอบรมเยาวชนเช่นเดียวกัน เพราะในแต่ละปีมีเยาวชนที่สนใจเข้าสมัครแต่ละรุ่นจำนวนมากถึง 3,000 คนแต่รับได้จริงแค่ 320 คนเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสานใจไทย สู่ใจใต้ มากขึ้น จะมีการเปิดรับสมัครปีละ 1,000 กว่าคน โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นศูนย์กลางในการดูแลรับผิดชอบ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นส่วนของการสนับสนุนในการดำเนินการ
นายอารีย์ วงศ์อารยะ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน มีการจัดตั้งสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ เป็นที่เรียบร้อย โดยมีนายกสมาคมฯ เป็นแกนนำหลักในการพัฒนาเยาวชน เพื่อทำหน้าที่หลัก คือติดตามเยาวชนที่เป็นสมาชิกทุกคนและติดตามการดำเนินงานของสถาบันปอเนาะในพื้นที่ เพราะการพัฒนาเพื่อยกระดับสถาบันปอเนาะในพื้นที่นั้น ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้การขับเคลื่อนตามบทบาทของสถาบันปอเนาะกว่า 130 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวฯ โดยมีภาครัฐคอยหนุนเสริมความร่วมมือเพื่อให้ชุมชนและประชาชนเกิดความคิดในการช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป
ปัจจุบัน โครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" ได้ดำเนินการไปแล้ว 40 รุ่น มีเยาวชนเข้าร่วม จำนวน 9,625 คน มีครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวน 4,322 ครอบครัว โดยดำเนินการนำเยาวชนแต่ละรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมในระหว่างปิดภาคเรียนช่วงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม ตามวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตของครอบครัวอุปถัมภ์ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง และเพิ่มทักษะประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ ผู้ตาม ในการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของเชื้อซาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตลอดจนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย จ.ยะลา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น