ไม่ธรรมดา….นโยบายพื้นที่ประชาธิปัตย์ “แทน” เปิด 10 วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองคอน ;สะท้อนความพร้อม (ชมคลิปสัมภาษณ์)
……
ประชาธิปัตย์น่าจะเป็นพรรคการเมืองแรกๆที่ประกาศนโยบายระดับภูมิภาค
และระดับจังหวัด อันเป็นการสะท้อนถึงความพร้อม และเตรียมการอย่างเป็นระบบ ผ่านการคิดและกลั่นกรองที่ระดมมาจากทีมงาน
อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านศึกสงครามความไม่สงบมาแล้ว
19 ปี ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาด้านยุทธศาสตร์การทหาร 4.9 แสนล้าน
แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ ประชาธิปัตย์จึงกล้าหาญพอที่จะประกาศนโยบาย
“สันติภาพสู่สันติสุข” ซึ่งแปลความได้ว่า
จะต้องสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นก่อนด้วยการพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ
และจะต้องพูดคุยกับทุกกลุ่ม เพื่อนำข้อสรุปมาแก้ไขปัญหา อันจะนำมาซึ่งความสงบ
ปราศจากการสู้รบด้วยอาวุธ
เมื่อสถานการณ์สงบลง จึงหันมามองถึงทรัพยากร
ความพร้อมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก
“นโยบายความมั่นคงด้านอาหาร” จึงตามมา รัฐจะต้องเข้าไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพ
ทั้งด้านการประมง การปศุสัตว์ รวมถึงพืชผลการเกษตร
เพื่อนำผลผลิตส่งออกไปเลี้ยงประชากรในโซนอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย
หรือฟิลิปปินส์ ที่ยังต้องการวัตถุดิบไปผลิตอาหารอีกจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งวัตถุดิบไปป้อนธุรกิจต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ที่ “นิพนธ์
บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หอบหิ้วสมาชิกไปเยี่ยมเยียน
รับฟังปัญหามาแล้ว
นครศรีธรรมราชถือเป็นอีก
“เมืองหลวง”ของประชาธิปัตย์ เลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประมาทไปหน่อย
ประกอบกับกระแสลุงตู่ ทำให้สูญเสียที่นั่งไปครึ่งหนึ่ง แต่คราวนี้ “รู้แล้ว
เข้าใจแล้ว” มีบทเรียน มีข้อมูลสรุปแล้ว พร้อมจะเดินหน้าด้วยนโยบาย
‘ชัยชนะ’ เปิด ‘10
วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองนครศรีธรรมราช ประกาศพาเมืองคอน
ชัยชนะ เดชเดโช ว่าที่ผู้สมัคร
ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เคยเปิด 3
นโยบายหลักในการนำพาพัฒนาเมืองนครศรีธรรมราชไปก่อนหน้าแล้ว คือ 1)
การมุ่งมั่นที่จะพา จ.นครศรีธรรมราช สู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเอง
เพื่อยกระดับสู่เมืองมหานคร 2) จัดทำโครงการ Rubber Valley เพื่อบริหารจัดการ
วิจัยและพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร
เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน 3)
การยกระดับศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ให้เป็นด่านศุลกากรเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างรายได้ให้จังหวัดและประเทศเพิ่มมากขึ้น
โดยมุ่งหวังให้เป็นชุมทางระเบียงเศรษฐกิจโลก หรือ ‘นครศรีธรรมราชโมเดล’
มาวันนี้แทน-ชัยชนะ เปิดอีก 7 นโยบายภายใต้
‘นครศรีธรรมราชโมเดล’ นั้น ได้แก่ 4)
การรักษาอัตลักษณ์ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน
และสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายมาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งนี้
จะมีการใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันและอนาคตเพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติเป็นมา
และมาสร้างเป็นซอฟท์พาวเวอร์ให้คนไทยและชาวโลกได้มาสัมผัส 5)
พัฒนาให้เป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่หลักในการท่องเที่ยว ‘วัดวา เขา ป่า นา เล’
เพราะใน จ.นครศรีธรรมราช มีวัดวาอารามอยู่มากมายซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองฯ วัดสวนขัน หรือวัดพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์
อ.ช้างกลาง วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี วัดเจดีย์ อ.สิชล ฯลฯ
มีธรรมชาติทั้งป่าเขาและท้องนาที่สวยงาม ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
และหมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา อุทยานแห่งชาติน้ําตกโยง อ.ทุ่งสง เป็นต้น
ซึ่งจะเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
นโยบายข้อที่ 6) คือ
เป็นศูนย์กลางการศึกษาทุกระดับของภาคใต้ และยกระดับมาตรฐานสู่สากล เนื่องมาจาก
จ.นครศรีธรรมราช มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจำนวนมากและนิยมส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน
เช่น ร.ร.เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ร.ร.กัลยาณีศรีธรรมราช
ร.ร.ท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา ร.ร.สตรีทุ่งสง เป็นต้น รวมทั้ง
ยังมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนชาว
จ.นครศรีธรรมราชในอดีต ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายสำนักวิชา 7)
จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
(Medical Healthcare Tourism) โดยจะเร่งพัฒนาโรงพยาบาลในจังหวัดฯ
ให้มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย
โดยร่วมกับกลไกของโรงพยาบาลสุขภาพตำบลในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้ง
จะมีการพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมุนไพร แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
สวนสาธารณะ เป็นต้น ให้มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
8)
ผลักดันให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของภาคใต้
ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องทำให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่ประชาชนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
และเป็นเมืองที่ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ
เพื่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ 9) การน้อมนำวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
มาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งจะเป็นการสานต่อการแก้ไขปัญหาที่มีมาในอดีต
และจะแก้ไขอย่างครบวงจร ทั้งการแก้ไขปัญหา 4 น้ำ คือ
น้ำจืดขาดแคลน-น้ำเค็ม-น้ำเปรี้ยวและน้ำเสีย สภาวะดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้
และปัจจุบันที่สภาพความเป็นเมืองได้รุกเข้ามามากขึ้น
ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สมดุลทางระบบนิเวศสูญเสียไป และ 10) จะพัฒนาให้
จ.นครศรีธรรมราช เป็นตลาดศูนย์กลางผลไม้และพืชผักในภาคใต้
ซึ่งจะมีการพัฒนาตลาดหัวอิฐและตลาดขนาดใหญ่อื่นๆ ในพื้นที่
ให้รองรับเข้าสู่ตลาดศูนย์กลางผลไม้และพืชผักตามมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นการสร้างเงิน สร้างอาชีพ และผลักดันให้ประชาชนใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
เพื่อพัฒนาพืชพันธุ์และผลผลิตทางการเกษตร เพื่อตอบสนองครัวไทยสู่ครัวโลก
และสร้างเสริมสุขภาพดีให้กับประชาชนด้วย
‘10
วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองนครศรีธรรมราช ’ หรือ ‘นครศรีธรรมราชโมเดล’
ถือเป็นนโยบายประจำจังหวัดที่ทางว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค รวมทั้ง
ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ได้ระดมความเห็น
มีการวางยุทธศาสตร์และมีการเห็นชอบร่วมกัน โดยหลายๆ นโยบายก็มีความเชื่อมโยงต่อกัน
เช่น การพัฒนาการศึกษา จะมีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี
และยังมีการเกี่ยวพันกับโครงการ Rubber Valley การท่องเที่ยวทางการแพทย์
ก็ผูกติดกับการรักษาประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่า
นอกจากตัวว่าที่ผู้สมัครที่มีความพร้อมแล้ว
ก็ยังมีนโยบายเพื่อพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะ
ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่ทำงานกับประชาชนในระยะยาว
ผ่านนโยบายที่มีทั้งจังหวัดที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้งเอง รวมทั้ง
นโยบายในพื้นที่ต่างๆ ที่ว่าที่ผู้สมัครฯ ในแต่ละจังหวัดเริ่มทยอยเปิดตัวแล้ว
ดังนั้น ผมจึงอยากให้ประชาชน ได้พิจารณาตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในวันนี้นอกจาก
16 นโยบายภาพรวม ที่ประชาชนให้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว
ยังมีนโยบายของแต่ละจังหวัดที่ถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
”นายชัยชนะกล่าว
นี้คือภาพสะท้อนความพร้อมของประชาธิปัตย์ในเชิงนโยบาย
ในภาพรวมก็มียุทธศาสตร์ 3 ส.สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ
ที่แต่ละสร้างก็จะมีนโยบายรองรับอีกสร้างละ 8 นโยบาย
ในแง่ของบุคลากรประชาธิปัตย์ก็เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไปหมดแล้ว
ผ่านช่วงเวลาของการคัดเลือกหมดแล้ว ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ส่วนเลือดไหลออก
ก็มีไหลเข้าเป็นธรรมชาติของพรรคการเมือง
#นายหัวไทร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น