โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565

มติชนออนไลน์ ;สัมภาษณ์พิเศษ นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อำนวยการเลือกตั้ง

 มติชนออนไลน์ ;สัมภาษณ์พิเศษ นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อำนวยการเลือกตั้ง



 

นิพนธ์’แม่ทัพสู้เลือกตั้ง ขันอาสาพา‘ปชป.’คัมแบ๊ก

 

ความพร้อมของพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

ขณะนี้พรรคมีความพร้อมเกือบทุกด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ตั้งคณะกรรมการเตรียมการเลือกตั้ง โดยมอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ปชป. เป็นประธานคณะกรรมการ โดยผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการและเป็น

ผู้อำนวยการเตรียมการเลือกตั้ง เมื่อมีคำสั่งดังกล่าวถือว่ามีความชัดเจนจากพรรคแล้วว่ามีการเดินหน้าไปสู่การเตรียมการเลือกตั้ง

 

สำหรับเรื่องนโยบาย ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา นายจุรินทร์ได้มอบหมายให้นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. เป็นผู้ใหญ่ของพรรคที่ดูเรื่องเศรษฐกิจมาโดยตลอดได้เตรียมทำนโยบายต่างๆ ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ยังได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อดูเรื่องต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการหยิบนโยบายใด ที่จะใช้เป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำสิ่งเหล่านี้มาปรับปรุง ทั้งนี้ หาก ปชป.จะคิดถึงเรื่องนโยบายก็จะต้องคิดถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่น คนอื่นๆ ที่จะได้รับประโยชน์ รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ ไม่ใช่คิดอยากจะทำอะไรแล้วไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่นิสัยของ ปชป. คิดว่าเตรียมไว้ครอบคลุมแล้ว

 

 

ในอดีตที่ผ่านมา ปชป.มุ่งที่การสร้างคน สมัยที่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และได้ขอดูกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการสร้างโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นนมโรงเรียน อาหารกลางวัน และอาจจะมีเรื่องโครงการอาหารเช้า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการตั้งกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับสาธารณสุขการเพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นี่เป็นนโยบายของ ปชป.ที่พูดแล้วทำได้จริงและยั่งยืนด้วย ไม่ใช่คิดนโยบายแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะได้คะแนน ไม่ใช่นิสัยที่ ปชป.จะทำ โดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ และวันนี้คำว่าสร้างคนของ ปชป.ยังเดินหน้าอยู่ นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังมอบให้นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาดูแลเรื่องการศึกษาที่ทันสมัย ได้เน้นการสร้างคนสร้างชาติ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วจะเปลี่ยนนโยบาย มันไม่ใช่ เราดูเค้าโครงปัญหาของประเทศแล้วเอาปัญหานั้นมาตั้งเป็นนโยบาย

 

เมื่อเตรียมเรื่องนโยบายเสร็จ คิดว่าเตรียมเรื่อง ส.ส.ตัวบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเวลาจะนับมือกันนับกันที่ ส.ส. แม้นโยบายจะดีแค่ไหน แต่ถ้า ส.ส.ไม่ได้รับเลือก นโยบายของพรรคก็ยากที่ไปสู่การปฏิบัติได้ ฉะนั้น การได้ที่นั่ง ส.ส.จึงเป็นปัจจัยสำคัญ พรรคต้องพิถีพิถันคัดคนที่มีโอกาสมากที่สุด บางพื้นที่อาจต้องทำโพลเพราะมีคนแจ้งความประสงค์เกินจำนวนที่นั่ง ขณะนี้คิดว่าตัวของผู้ว่าที่สมัคร ส.ส.อยู่ที่ 95% ไม่ได้เป็นปัญหา

 

วางเป้าหมายจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้อย่างไร

 

คราวที่แล้วเราได้ 52 ที่นั่ง คราวนี้ ปชป.มั่นใจได้มากกว่าเดิมแน่นอน เพราะนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เอาตำแหน่งทางการเมืองการันตีแล้วว่าหากได้ต่ำกว่าเดิม ท่านเลิกเล่นการเมืองเลย ฉะนั้น ท่านต้องทำทุกอย่างเพื่อนำไปสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง

 

โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นของ ปชป.ที่จากเดิมได้ 22 ที่นั่ง จาก 50 ที่นั่ง ถือว่าเราเสียหายเยอะ ตอนนี้พยายามแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การแบ่งเขต ส.ส.เพิ่มเป็น 400 เขต ภาคใต้เพิ่มเป็น 58 เขต เมื่อดูตัวผู้สมัครแล้ว มีความมั่นใจว่าจะได้ 35-40 ที่นั่ง ตัวเลขนี้ไม่ใช่ความเพ้อฝัน ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพื้นที่ภาคกลางก็มีความแข็งแกร่งขึ้น จากการได้นายสุชัชวีร์และ น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรค ปชป. เข้ามาเป็นจุดที่ช่วยปิดช่องว่าง เพราะมีการกล่าวหา ปชป.มีแต่คนรุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของประเทศตั้งเป้าไว้ 75-80 ที่นั่ง

 

ทั้งนี้ ปชป.เป็นสถาบันทางการเมืองที่คนทุกวัยมีโอกาส ทุกรุ่นกลุ่มอายุมีโอกาสที่นี่ เราไม่ได้บอกว่าที่นี่เป็นที่เฉพาะของคนสูงวัยเท่านั้น ไม่จริง เราให้โอกาสกับคนทุกคน

 

หากมีการใช้กติกาการเลือกตั้งใหม่ ที่เป็นบัตร 2 ใบ หารด้วย 100 หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเอื้อพรรคใหญ่

 

ทั้งสองอย่าง เอื้อกับพรรคใหญ่ก็ส่วนหนึ่ง ตอนที่เป็นบัตรใบเดียวทำให้คนต้องตัดสินใจ ทางเลือกของประชาชนมีน้อยลง แต่เมื่อเป็นบัตร 2 ใบ ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงมาก ประชาชนก็ยังพอมีโอกาสเลือกได้ทั้งคนและพรรค รวมถึงช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ คิดว่าแล้วแต่คนมอง แต่ท้ายที่สุดต้องอยู่กับประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่หากไม่ได้ดูแลประชาชน ก็ยากที่ประชาชนจะให้คะแนน คิดว่าบัตร 2 ใบอาจจะมีผลบ้าง แต่ไม่ใช่ตัดชี้ขาดในทางการเมือง ทางการเมืองตัวชี้ขาดคือประชาชน แต่ ปชป.ก็พร้อมสู้ วันนี้คิดว่าไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ปชป.เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งแล้ว

 

จุดแข็งของ ปชป.ที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง

 

1.ปชป.เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ยืนยันมาตลอด 76 ปี เราแข่งกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราแข่งกันมาทุกยุคทุกสมัย ฉะนั้น จึงไม่หวั่นไหวกับการสู้พรรคใหม่ๆ และความเป็นประชาธิปไตยใน ปชป.ก็มีสูงกว่าพรรคอื่น 2.บุคลากร ปชป.มีบุคลากรทุกวัย ไม่ได้มีเฉพาะผู้อาวุโสเท่านั้น คนรุ่นใหม่ก็มีเยอะและยังทยอยเข้ามาเพิ่มด้วย เมื่อถึงเวลาจะเปิดให้เห็นเลยว่ามีคนรุ่นใหม่กว่าพรรคการเมืองบางพรรคที่อ้างว่าเป็นของคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ และ 3.นโยบายที่จับต้องได้ มีความยั่งยืน อาจจะไม่ถูกใจไปทุกอย่างเพราะความเป็นสถาบันการเมือง ความที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม คะแนนใครก็อยากได้ แต่ถ้าเราได้คะแนนแล้วทำให้บ้านเมืองและประชาได้รับความเสียหาย ต้องระมัดระวังในการกำหนดนโยบาย

 

จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างไร

 

ตรงนี้เป็นจุดที่ ปชป.ต้องเข้าไปให้ความสำคัญมากขึ้น การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในพรรคมากขึ้น เป็นสิ่งที่พรรคต้องดำเนินการแต่พรรค ปชป.ก็ไม่ใช่ของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เป็นของคนทุกรุ่น คนรุ่นใหม่ต้องมีโอกาส และความผสมผสานสิ่งนี้เราก็ต้องมี คนทุกวัยต้องไปด้วยกัน

 

มั่นใจหรือไม่ว่าจะกลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้อีกครั้ง

 

หากจะพูดก่อนการเลือกตั้งคงจะไม่ดีเท่าไร ต้องพูดหลังการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ต้องพูดคุยกันในวันหน้า ต้องดูตัวเลขของการเลือกตั้งและดูว่าใครเป็นพรรคแกนหลัก เขามีนโยบายอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไรกับแต่ละพรรคแล้ว เราค่อยตัดสินใจ ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่นอกจากนายจุรินทร์แล้วจะมีใครอีกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องไปคุยกันว่าจะใช้โมเดลวิธีการอย่างไร แต่เชื่อว่า ปชป.เชื่อมั่นในคณะบุคคล พรรคไม่ได้ไปฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง มีบุคลากรที่พร้อมจะนำพาประเทศให้เดินหน้าได้

 

พรรค ปชป.มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

 

เราไม่ได้หวังไกลขนาดนั้น แต่เรามีบทเรียนในอดีตเมื่อปี 2535 ที่มีการเลือกตั้งสองครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งแรกพรรค ปชป.มี ส.ส.ประมาณ 46 ที่นั่ง แต่เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง ปชป.ได้มาถึง 79 ที่นั่ง จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อมองประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จากจำนวน ส.ส. 52 คนในวันนี้ ถ้าพรรค ปชป.ได้ ส.ส.เพิ่มมาเป็น 80 คน ก็ไม่แน่ แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะรวบรวมเสียงได้มากกว่ากัน

 

มีหลายพรรคต้องการแย่งฐานเสียงเดิมของพรรค ปชป. มีความกังวลหรือไม่

 

ไม่กังวล ทุกครั้งที่มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ภาคใต้ก็แข่งกันทุกครั้ง ที่ผ่านมามีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เยอะจนบางทีจำชื่อไม่ได้ สิ่งเหล่านี้พรรค ปชป.ประสบมาเยอะ และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่จะมีการแข่งขันกันในทางการเมือง เราเอาความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นเป็นบทเรียน อะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็ไม่ทำซ้ำ ต้องระมัดระวัง การเมืองสามารถพลิกในชั่วข้ามคืนก็ได้ เพราะฉะนั้น ในทางการเมืองต้องระมัดระวังตลอดเวลา ในพื้นที่ภาคใต้เรามีความมั่นใจมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสียอีก ครั้งนี้ตั้งมั่นที่จะทวงคืนพื้นที่ที่เราเสียไปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ต้องเร่งแก้ปัญหาจุดอ่อนในพื้นที่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น