โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ตำนานการสร้าง “วัดเพ็ญญาติ” กับ “หลวงปู่กล่อม”

 

ตำนานการสร้าง วัดเพ็ญญาติกับ หลวงปู่กล่อม

……นายหัวไทร






 

กาโตะอดีตรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ ต.กะเปียด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ออกมายอมรับกับพิธีกรข่าวคนหนึ่งแล้วว่า ได้เบิกเงินของวัดเพ็ญญาติออกไป ๖00,000 บาทจริง เพื่อนำเงินไปให้กับคนกลางในการเจรจาปิดข่าวฉาวกรณีกาโตะมีสัมพันธ์สวาทกับ สาวตองเหนืออ่างเก็บน้ำกะทูน

     กะโตะออกมายอมรับว่าเบิกเงินไป ๖00,000 บาทจริง หลังทีข่าวลับออกมาว่า กาโตะเบิกเงินวัดไป แต่กะโตะยืนยันว่าจะยืมเงินญาตินำเงินไปคืนวัดในวันนี้ (๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

      กล่าวถึงวัดเพ็ญญาติ ตั้งอยู่บนเนินเขา หลังสถานีรถไฟกะเปียด อ.ฉวาง ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม มีโบสถ์หลังใหญ่สวยงาม มีศาลาการเปรียญไม้อายุกว่า 100 ปี มีวิหาร หลวงปู่กล่อมอันเป็นวิหารที่เก็บสังขารของหลวงปู่กล่อมนั้นเอง ซึ่งสังขารหลวงปู่กล่อม ไม่เน่าเปื่อย

      ประวัติการก่อตั้งวัดเพ็ญญาติไม่แน่ชัดนัก ไม่มีบันทึกที่ชัดเจน แต่ทราบว่ามีความเชื่อมโยงกับวัดบุปผารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยหลวงปู่กล่อม พระธรรมวราลังการ เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเพ็ญญาติ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร และไม่ว่าจะย้ายไปวัดไหนท่านก็ยังมุ่งมั่นสร้างวัดเพ็ญญาติ บ้านเกิดจนแล้วเสร็จ โดยมีพระหนุ่ม พระครูถาวรวิหารกิจ (หนุ่ม ถาวโร)พระผู้น้องเป็นคนดูแลวัด

         วัดเพ็ญญาติหลวงปูกล่อมสร้างติดต่อกันมาตลอดหลายสิบปี กระทั่งท่านอาพาธถึงต้องหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง ปัจจุบันนับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์วัดหนึ่งในต่างจังหวัด มีอุโบสถที่ค่อนข้างใหญ่สวยงาม (ถ่ายแบบไปจากพระอุโบสถวัดบุปผาราม ยกเว้นใต้อุโบสถวัดเพ็ญญาติสร้างเป็นถังเก็บน้ำฝนเต็มพื้นที่ของอุโบสถ) ศาลาการเปรียญกว้างใหญ่ ๒ ชั้น กุฎีที่พระสงฆ์ ๔๐ รูป อยู่จำพรรษาได้ โรงครัว การประปาเฉพาะภายในวัด และโรงเรียนประชาบาล ท่านก็สร้างขึ้นมาเอง

     กล่าวถึงพระธรรมวราลังการ (หลวงปู่กล่อม)เป็นคนกะเปียด อ.ฉวางโดยกำเนิด เมื่อ        อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทที่วัดท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ เวลา ๑๔.๐๐ น. มีพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนธโช) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรนุ่น วัดเพชรจริก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีชื่อฉายาว่า อนุสฺเสโน ภายหลังเมื่อย้ายเข้ามาอยู่วัดราชาธิวาสวิหาร พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (อุตฺตมเถร) ได้เปลี่ยนฉายาให้ใหม่ว่า อนุภาโส

        พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๕ จำพรรษาที่วัดเพชรจริก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ๓ พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๖ จำพรรษาที่วัดพระนคร ต. ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ๑ พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๗ จำพรรษาที่วัดท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ๑ พรรษา

        พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๗๘ จำพรรษาที่วัดราชาธิวาสวิหาร แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๒๑ พรรษา และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร

        วันศุกร์ ที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และต่อมาได้เป็นเจ้าคณะธรรมยุตอำเภอจังหวัดธนบุรี เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๖ ๑๗ ๑๘ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๖ ๑๗ ๑๘ จนถึงวันเสาร์ ที่ ๒๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ รวมเวลา ๕๑ พรรษา

 

        พระธรรมวราลังการเป็นผู้มีอุปนิสสัยอย่างพระโพธิสัตว์ มากด้วยเมตตากรุณาและเสียสละอย่างสูง ท่านมีจิตใจเข้มแข็งอย่างยิ่งในการทำความดี แต่ไม่เข้มแข็งเลยในการลงโทษคนผิด พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดประพฤติผิดที่ช่วยแก้ไขไม่ได้ ต้องลงโทษตามความผิดนั้นๆ ท่านร้องไห้ให้เห็นหลายครั้ง พูดแล้วพูดอีกว่าสงสารเหลือเกิน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านถือคติประจำใจว่าพระภิกษุสามเณรศิษย์วัดและประชาชนทั่วไป ที่มีอายุรุ่นลูกหลานล้วนแต่เป็นลูกหลานของท่านทั้งนั้น พยานก็คือ ท่านสามารถทำความสะอาดที่บำบัดทุกข์สาธารณะได้โดยไม่รังเกียจ ท่านถามเพื่อให้ทุกคนสบายใจว่า พ่อแม่ทำความสะอาดให้ลูก ๆ พ่อแม่รังเกียจไหม? คำตอบที่ได้ก็คือว่า เมื่อทุกคนเป็นลูกท่าน ท่านทำความสะอาดให้ลูก ๆ จะเป็นไรไป ท่านมีความเคร่งครัดในการรักษาปฏิบัติพระวินัย จารีตประเพณีของคณะ ขยันในการทำวัตรเช้าเย็น แม้พระเณรหนุ่ม ๆ ก็สู้ไม่ได้ ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อปราศจากประโยชน์และคำหยาบคายเลย ไม่สั่งสมและไม่ติดในปัจจัย ๔ กับปิยภัณฑ์ที่ได้รับถวายเป็นส่วนตัว ใช้ในการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเช่นสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระพุทธศาสนา และสงเคราะห์อนุเคราะห์คนทั้งหลาย ทำบุญกุศลในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

 

อาพาธและอวสานกาล

        พระธรรมวราลังการ บรรพชาอุปสมบทแล้วตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ตนประโยชน์ท่านตลอดมาเป็นเวลา ๗๐ ปีเศษ ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็เริ่มอาพาธเพราะความชรามีอาการปอดบวม หัวใจโต เส้นเลือดตีบตัน เป็นต้น นายแพทย์ปัญญา ส่งสัมพันธ์ และภรรยาท่าน (คุณชลูด ส่งสัมพันธ์) ได้รับและถวายการรักษาพยาบาล ไว้ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ด้วยการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่วิทยาการทางแพทย์ในสมัยนั้นจะพึงมี ถึงวันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๐๔.๑๐ น. ก็มรณภาพด้วยความสงบ หน้าของท่านที่ถึงมรณภาพช่างเหมือนหน้าของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศก ไม่ชื่นบาน เป็นหน้าของท่านผู้วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ ซึ่งเข้าถึงสันตบทสงบระงับความเวียนว่ายตายเกิด ที่จะถูกปรุงแต่งด้วยวิชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นสิ่งยืนยันว่าการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่าน มาตลอดเวลาหลายปีนั้นไม่ไร้ผลโดยแท้แล

       ก่อนมรณภาพท่านสั่งลูกศิษย์ไว้ว่า ให้นำสังขารของท่านไปเก็บไว้ที่วัดเพ็ญญาติ และห้ามไม่ให้เผา ปรากฏว่า สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ยังคงเก็บไว้ในวิหารจนถึงทุกวันนี้ และนี้คือประวัติย่อๆของวัดเพ็ญญาติ และหลวงปูกล่อม ผู้ก่อตั้งวัด มีบทเพลงอีกมากมาย จากนักร้องดังหลายคนที่แต่ง และขับร้องเกี่ยวกับประวัติหลวงปู่กล่อม

Cr ;ภาพเพจวัดเพ็ญญาติ

 #นายหัวไทร #วัดเพ็ญญาติ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น