โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565

นายหัวไทร จับตามอง 10 มีนา “วันสงขลา” กับตำนานการตั้งเมือง “สงขลาบ่อยาง

 นายหัวไทร  จับตามอง   10 มีนา วันสงขลา”  กับตำนานการตั้งเมือง สงขลาบ่อยาง

……




..

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีสมโภชเสาหลักเมืองและพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตามโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา เรียกกันว่า งานวันสงขลา ประจำปี 2565

 

กล่าวสำหรับจังหวัดสงขลาได้ประกาศให้วันที่ 10 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ได้อันเชิญหลักไม้ไชยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา จึงกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคม เป็น วันสงขลาเพื่อระลึกถึงการสถาปนาเมืองสงขลาปัจจุบัน และมีเจตานารมณ์เพื่อให้คนมีถิ่นกำเนิด พักพิง ศึกษาเล่าเรียน และประกอบอาชีพทุกหนแห่งในปัจจุบันได้ตระหนักมีจิตสำนึก และนำมาซึ่งการรวมพลังสร้างความรัก ความสามัคคี ดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินสืบไป

 



โดยจังหวัดสงขลาได้สืบสานเจนตนารมณ์ของ วันสงขลา

ในการรวมพลังสร้างความรัก ความสามัคคี ดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยได้กำหนดจัดโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา (วันสงขลา) ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2565

 

สำหรับเสาหลักเมืองสงขลาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง โดยความเป็นมาของเสาหลักเมืองสงขลา จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า เมืองสงขลาย้ายสถานที่ตั้งเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเริ่มจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งปรากฎหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่ง แต่บ้านเมืองถูกทำลายจากภัยสงครามจนหมดสิ้น จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ฝั่งแหลมสน แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอในการขยายเมือง


 จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยย้ายอยู่ที่ฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 และในประชุมพงศาวดารได้ระบุความตอนหนึ่งว่า ครั้น ณ วันเดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาเช้าเก้าโมง 1 กับ 10 นาที ได้ฤกษ์ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ได้เชิญหลักไม้ไชยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา เป็นเสาหลักเมือง มีปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ซึ่งตามปฏิทินสุริยคติตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2385 หรือเมื่อ 180 ปีมาแล้ว


 และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานของเมืองสงขลาในอดีตอีกด้วย ภายในศาลหลักเมืองสงขลา มีองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาเมืองให้พ้นภัยพิบัติต่างๆ และเป็นที่เคารพสักการะ มีองค์เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงฮ๋องเหล่าเอี๋ย เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา พระเสื้อเมือง โบ้เชงไต่เต่ พระหมอรักษา ตี่ฮู่อ๋องเอี๋ย เทพเจ้ารักษาโรค และเฉ่งจุ้ยจ้อ พระหมอเทพรักษาโรคภัยของชาวสงขลา ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนศาลหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 และในทุกวันที่ 10 มีนาคมจะมีการจัดสมโภชเป็นประจำทุกปี

 ตำนานการตั้งเมืองสงขลา   วุฒิชัย เพชรสุวรรณ เครือข่ายภาคีคนรักสงขลา กล่าวกับ #นายหัวไทรว่า ชื่อเมืองสงขลาเขาแดง เริ่มปรากฏชื่อในสมัยอยุทธยา ตอนกลาง ประมาณปี 2200—ไม่แน่ชัดว่าเป็นปีไหน

 



ถามว่ามีอะไรมายืนยัน ก็มีหลักฐานทางโบราณคดี มีป้อมปืน ป้อมปราการ คูเมือง แผนที่โบราณของนักเดินเรือก็ปักหมุดสงขลาไว้ตรงนี้

 

สมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นยุคที่น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 โดยพิจารณาจากเจดีย์บนยอดเขาน้อยที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า พุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยปรากฏชื่อในเอกสารต่าง ๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตกว่า Singora บ้าง Singor บ้าง น่าจะมีชื่อเมือง สิงขร สิงคะ แปลว่าจอม ที่สูงสุดยอดเขา และภาษาไทยว่า "สิงขร" เป็นความหมายที่สอดคล้องกับที่ตั้งเมืองสงขลา

 




โดยช่วงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ เจ้าเมืองและปฐมพลเมืองเป็นชาวมุสลิมเปอร์เซีย จากเกาะชวา ซึ่งได้อพยพและนำพลพรรคชวา หนีภัยจากโจรสลัดที่คุกคามอย่างหนัก ในแถบหมู่เกาะชวาล่องเรือมาขึ้นฝั่งบริเวณฝั่งปักหลักอยู่หัวเขาแดง โดยปรากฏในเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย

 

ถามว่า-การสิ้นสุดของสงขลาเขาแดง สิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เพราะอะไร วุฒิชัย บอกว่า ปรากฎหลักฐานชัดว่ามาจากการโจมตีของอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ช่วงปี 2200-2223 หลังถูกโจมตีพ่ายยับ เมืองสงขลาก็ถูกลบออกจากแผนที่

     เสร็จศึกสงคราม สมเด็จพระนารายณ์ก็ขนย้ายผู้คนขาวสงขลาไปด้วย ส่วนหนึ่งไปอยู่อยุธยา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะ ฐานันดร อีกส่วนที่เป็นชาวบ้านธรรมดา เดินทางต่อไปไม่ไหวก็หยุดอยู่แค่ อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี จนปัจจุบันปรากฏเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เรียกกันว่า บ้านสงขลา




       วุฒิชัย เล่าว่า ประชาชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้อพยพไปด้วย ก็ย้ายมาปักหลักที่ใหม่ มาอยู่บ้านหัวเขา ซึ่งครั้งนั้นไม่ได้ตั้งเป็นเมือง เพราะถ้าตั้งเป็นเมือง จะต้องมีเจ้าเมือง มีผู้ปกครอง ไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งเป็นเมือง ไม่มีผู้ปกครอง ขาดช่วงอยู่ประมาณ 100 ปี

นักวิชาการกำลังสืบค้นช่วงที่หายไป ไปอยู่ตรงไหนกันอย่างไร ยังไม่ชัดเจนนัก หลักฐานทางวิชาการยังไม่ชัด ไม่ตอบโจทย์

 

วุฒิชัย เล่ามาเข้าสู่ยุคที่ 2 ของเมืองสงขลา เรียกว่า สงขลาแหลมสนเป็นการเกิดใหม่ ตั้งเมืองใหม่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งจะเป็นช่วงที่คนจีนเริ่มเข้ามา บางตำราบอกว่า นครศรีธรรมราชเริ่มเข้ามามีบทบาทในการตั้งเมือง มีความชัดเจนเรื่องการตั้งเมือง มีการแต่งตั้งคนมาปกครองดูแลชัดเจน มีความเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ เรียกว่า สงขลาแหลมสน

เมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้างเนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังจากสงคราม ดังนั้นลักษณะของเมืองจึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างกันอย่างง่าย ๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเล ถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิมที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ทำให้เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ในภายหลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอุปโภค และปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา

 

สงขลาบ่อยาง

       เข้าสู่ยุคที่สามของเมืองสงขลา วุฒิชัย เล่าว่า จากปัญหาข้างต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองสงขลา ปี 2379 จึงเริ่มมีการรังวัดที่ดิน เริ่มสร้างกำแพงเมือง



พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในเวลานั้น ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379



      ปี 2485 จึงสร้างเมืองเสร็จวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานไม้ไชยพฤกษ์ มาให้ทำเป็นเสาหลักเมือง หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ไชยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385

      “ไชยพฤกษ์ ให้เขียนใช้ ไซึ่งแปลว่าไม้แห่งชัยชนะ ไม้แห่งความเจริญรุ่งเรือง

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยางและพัฒนา ก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันนี้

 #นายหัวไทร #สงขลาเมืองเก่า

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น