โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กระบี่ โค่นยาง หันมาทำเกษตรผสมผสาน ชีวิตเปลี่ยน เป็นข้าราชการก็ไม่เป็นอุปสรรค มีกินเงินเหลือเก็บ (ชมคลิป)




กระบี่ โค่นยาง หันมาทำเกษตรผสมผสาน ชีวิตเปลี่ยน เป็นข้าราชการก็ไม่เป็นอุปสรรค มีกินเงินเหลือเก็บ (ชมคลิป)





         ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก นี่คือแนวคิดของนายวันชัย สุภาพ อายุ 48 ปี ข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการชำนาญงานสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ ที่ได้ยึดหลักการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยได้มีการปรับเปลี่ยนสวนยางพารา เนื้อที่ 3 ไร่ มาทำเป็นสวนเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านมา 1 ปี มีทุกอย่างที่อยากกิน เหลือแบ่งขาย นำรายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว จนวันนี้ทำให้ชีวิตและครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


นายวันชัย เล่าว่า เมื่อปี 2561 มีสวนยางพารา อยู่ประมาณ 3  ไร่ ตั้งอยู่บ้านคลองทับหัวกา ม.5 ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ ด้วยภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำจึงคิดที่จะโค่นยางทิ้ง โดยได้ปรึกษากับครอบครัว ว่าหลังจากโค่นยางแล้วก็จะทำเกษตรผสมผสาน ต้นทุนการปลูกน้อย ผลผลิตเติบโตเร็ว เป็นที่ต้องการของตลาด และที่สำคัญสามารถนำมาบริโภคได้ในครัวเรือน แต่สุดท้ายความคิดลงตัว และลงมือทำจนชีวิตดีขึ้น


นายวันชัย กล่าวว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ สวนเกษตรผสมผสานของตน กำลังให้ผลผลิตของกล้วยน้ำหว้า มะละกอ ตะไคร้ ถั่วพลู แตงกวา ชะอม มันสำปะหลัง มะนาว ข้าวโพด ขมิ้น ข่า และพืชผักอื่นๆซึ่งเป็นพืชผักที่สามารถนำมาบริโภคได้ในครัวเรือนและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะถั่วพลูกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ในทุกวันจะมีพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าบ้าน ราคากิโลกรัมละ 40 บาท และบางช่วงจะมีราคาสูงถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยแม่ค้าจะซื้อไปทำผักเหนาะ และเมนูเด็ดยำถั่วพลู รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า  1 หมื่นบาท


นายวันชัย กล่าวอีกว่า โดยในสวนเกษตรผสมผสานจะมีผลผลิตจากพืชที่ปลูกมากกว่า 10 ชนิด หมุนเวียนกันออกผลผลิตในแต่ละรอบแตกต่างกัน ทำให้มีผลผลิตในสวนนำมาปรุงอาหารทุกวัน ไม่ต้องซื้อที่เหลือก็เก็บขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ก็ตัดสินใจอยู่นาน เนื่องจากอาชีพสวนยางพาราเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ขณะเดียวกันตนกับภรรยาก็รับราชการอยู่ด้วยเกรงว่าจะไม่มีเวลาทำสวน


จึงเริ่มวางแผนทำการบ้านตั้งแต่ก่อนโค่นยาง โดยเห็นโมเดล โครงการพัฒนาที่ดินของสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เนื้อที่ 200 ไร่ ในพื้นที่ ต.ปลายพระยา โดยแนวคิดของ ผอ.ประสิทธิ์ แสงภักดี จัดสรรพื้นที่ของรัฐให้ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน คนละ 2 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่ 9 ลองกลับมาลงมือทำ


วันจันทร์-วันศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาราชการ ใช้เวลาก่อนและหลังเลิกงาน วันเสาร์-อาทิตย์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสวน เป็นความโชคดี ที่สวน กับบ้านอยู่ติดกัน ส่วนที่ทำงานก็อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 2 กม.ใช้เวลาเดินทางไปทำงานไม่ถึง 10 นาที จึงมีเวลาดูแลสวน และทำงานโดยไม่เบียดบังเวลาราชการ   

วันนี้มียอมรับว่ามีความสุขกับการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานมาก และที่สำคัญมีเวลาอยู่กับครอบครัว โดยพืชผักทุกอย่างที่ปลูกในสวนปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากปลูกเพื่อบริโภคเอง ทำให้ขายดีทุกวัน รายได้เป็นเงินเก็บให้ครอบครัว ส่วนเงินเดือนประจำจากการรับราชการทั้งของตนและของภรรยา ก็นำไปใช้ที่จำเป็น และเป็นความโชคดีของตนอีกอย่างก็คือได้ทำงานรับราชการในสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการเกษตรให้ศึกษาได้อย่างไม่รู้จบสิ้น


นายวันชัย ได้กล่าวด้วยว่า ในช่วงของการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด 19 ร้านค้าห้างร้านต่างๆปิดหมด ครอบครัวของตนไม่เดือดร้อน มีผัก มีผลไม้กินทุกวัน และยังแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย


ด้าน นายประสิทธิ์ แสงภักดี ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ กล่าวว่า การทำเกษตร ผสมผสาน ตามศาสตร์ของพระราชาหลักเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรสวนผสมผสานในการเลี้ยงชีพ สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว เหมือนอย่างครอบครัวของนายวันชัย สามารถเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการและคนอื่นๆได้ หากไม่ขี้เกียจ ไม่มีจน ไม่อดตาย แน่นอน




      ในบางครั้งการทำงานเกษตรไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมาย ก็สามารถนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ได้ โดยนำมาวางรูปแบบการทำเกษตรผสมผสานในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทางหน่วยงายภาครัฐในกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ยินดีที่จะสนับสนุน สำหรับสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ ก็มีโมเดลการจัดรูปแบบที่ดินการทำเกษตรผสมผสาน เนื้อ 200 ไร่ แบ่งให้ครอบครัวละ 2 ไร่ ในพื้นที่ อ.ปลายพระยา พบว่าชาบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต มีรายได้ครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 300-500 บาทต่อวัน  .....
กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน
27/05/63 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น