โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

นโยบายภาษีอากร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

นโยบายภาษีอากร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง


      ผมเคยรับข้าราชการตำรวจแล้วย้ายมาทำงานกระทรวงยุติธรรม โดยช่วงที่เป็นตำรวจ ผมมักจะอยู่ที่กองปราบปรามฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาชญากรรม... เราไม่ค่อยได้หลักฐานเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม เพราะหลักฐานจะอยู่กับผู้กระทำผิดซึ่งมีเป้าหมายคือเรื่องเงิน เราจึงนำมาตรการทางภาษีมาใช้
อย่าง “หม่อมเต่า” ซึ่งท่านเป็นอดีตอธิบดีกรรมสรรพากร ได้ให้ผู้ข้าราชการกรมสรรพากรขณะนั้น ปัจจุบันท่านเป็นตุลาการศาลศาลปกครอง ไปแจ้งเรื่องการโกง VAT แรกๆ ไม่รู้จักท่าน ตอมาจึงไปพบท่านหลายครั้ง และทำให้ผมได้มีความรู้เกี่ยวกับภาษี
     ผมคิดว่าภาษีอากรทั้งระบบมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเพื่อการนำไปพัฒนาประเทศ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมาก จนมีคนพูดว่า “ความร้ายแรงที่สุดก็คือคำว่าพัฒนา” เพราะแทนที่จะพัฒนาประเทศกลับไปทำลายและสร้างความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นพรรคประชาชาติจึงได้คิดเกี่ยวกับเรื่องภาษี โดยในช่วงที่ผมเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมทำให้คดีภาษีและเรื่องตลาดเงินเป็นอาชญากรรมสำหรับคดีพิเศษ เราจะต้องปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ ผมยังไม่เชื่ออย่างสนิทใจในเรื่องการเป็นองค์กรอิสระ เพราะเราสร้างองค์กรอิสระเอาไว้เยอะโดยที่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบไม่ได้ ผมจึงคิดว่าเราควรมีองค์กรหรือสถาบันสำหรับดูแลเรื่องภาษีอากรและงบประมาณ ทั้งรายรับและรายจ่ายอย่างเป็นอิสระ ...อิสระในที่นี้จะต้องไม่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจมากนัก แต่อาจยึดโยงกับประชาชน
สำหรับตัวผม หากประเทศเป็นประชาธิปไตยผมก็อยากให้ยึดโยงกับสภา เพราะทุกวันนี้ประชาชนไมได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี ผมมีทฤษฎีส่วนตัวว่า “อะไรเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน” เงินภาษีอากรต้องเป็นเงินของประชาชน วันนี้ ถ้าเรามีองค์กรและนโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ผมคิดว่าถึงเราไม่ต้องไปเปลี่ยนอัตราภาษี แต่ก็สามารถเพิ่มเงินได้
ปัจจุบัน การสมัคร สส. จะต้องถูกตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งผู้สมัครฯ จำนวนมากไม่เคยยื่นแบบเสียภาษี... จากงานวิจัยของอาจารย์ผาสุกพบว่า ผู้ยื่นแบบเสียภาษี 10 ล้านคน จะมีผู้เสียภาษีจริงๆ เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งคนทั่วไปก็ยังเข้าใจผิดว่าชนชั้นกลางเป็นคนจ่ายภาษี แต่จริงๆ ผู้ที่เสียภาษีก็คือประชาชนทั้งประเทศ เพราะเราผลักการเสียภาษีเป็นภาษีทางอ้อม (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต)
เมื่อประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องภาษีดี บางคนก็ใช้นโยบายประชานิยม... ประเทศไทยต้องเดินทางไปถึงรัฐสวัสดิการ เราต้องทำให้คนที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอยู่อย่างพอเพียงและมีข้าวกิน
ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50 ล้านคน จะทำอย่างไรให้คนทั้ง 50 ล้านคนไปยื่นแบบภาษี เพราะผมเห็นหลายคนร่ำรวยมากแต่ไม่ได้ยื่นแบบเสียภาษีไว้ ...วันนี้เราหลบเลี่ยงภาษีเยอะมาก และการหลบเลี่ยงประการหนึ่งก็คือการไปให้เอกสิทธิโดยคนที่ “เข้าใจว่า” เป็นผู้มีความรู้ เข้าใจว่านี่เป็นการพัฒนา หากแต่ประโยชน์จริงๆ กับไปตกอยู่ที่คนร่ำรวย... แทนที่จะเอาเงินก้อนนี้ไปช่วยในเรื่องการศึกษาหรือสาธารณสุขเพื่อให้คนเท่าเทียมกัน
ภาษีบุคคลดังกล่าวมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ยิ่งย้อนกลับไปดูการจัดเก็บภาษีภายในประเทศของกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตก็จะพบมาตรการต่อต้านภาษีและการทุจริต วันนี้กรมสรรพสามิตยังมีช่องทางที่ปล่อยปละละเลยอีกมาก...
สมัยผมอยู่ DSI มีบางคดีที่เป็นความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต แต่กลับผลักไปให้กรมศุลกากรดำเนินการ ซึ่งกรมศุลกากรก็ไม่ได้ตรวจสอบ การนำเข้าก็สำแดงเท็จ อย่างโรงงานยาสูบก็ทำท่าจะล่มเพราะไปเก็บภาษีก้าวหน้า มาตรการตรวจสอบก็แทบไม่มีเพราะบริษัทเหล่านี้ก็เป็นบริษัทข้ามชาติ ผมจึงคิดว่าเราต้องมีคนกลางที่ดูแลเรื่องนโยบายภาษี
     งบประมาณในการบริหารประเทศไทยปีนี้เราตั้งไว้ที่ 3 ล้านล้าน 2 แสนบาท ถ้าเอาประชากรประเทศไทยมาเป็นตัวตั้งก็จะตกที่ 4.2 หมื่นบาทต่อคนต่อปี แต่ในความเป็นจริงเราตั้งงบประมาณขาดดุล และเก็บภาษีจากหน่วยงานได้ประมาณร้อยละ 80 กล่าวคือไม่ถึง 3 ล้านล้าน 2 แสนบาท ทุกวันนี้คนยังไม่ค่อยมีความรู้สึกร่วมเกี่ยวกับการเสียภาษี เราจะจูงใจคนอย่างไรให้คนมาเสียภาษี... แต่ผมกลับมองว่าถึงเราไม่ต้องปรับภาษีเลยก็ยังหาเงินมาได้ นี่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งผิดหรือถูกก็ค่อยว่ากันอีกที เราจะต้องเอาหัวข้อสุดท้ายในวันนี้มาพัฒนาประเทศให้ได้
ผมขอยกตัวอย่าง กรณีของ The Board of Investment of Thailand (BOI) ซึ่งปัจจุบันได้ออกจากสารบบไปแล้ว เราต้องการจะพัฒนาประเทศแต่กลับไปหยุดยั้งการพัฒนา เพราะการลงทุนใน BOI จะทำให้เราได้สิทธิพิเศษ อาทิ ลดภาษีนิติบุคคลร้อยละ 20 เป็นเวลา 8 ปี ขาดทุนได้อีก 5 ปี ในขณะที่คนไทยมีภาษีร้อยละ 20 เราเอาคนดังจากทั่วโลกเข้ามาแข่งขัน แล้วคนไทยจะไปพัฒนาได้อย่างไร แค่เริ่มต้นคุณก็ปล่อยให้เสียเปรียบแล้ว ทุกวันนี้ทุกฝ่ายอยู่แยกกันหมด บางคนแค่จะไปขอคืนภาษีก็ถูกตรวจสอบและติดคุก ผมจึงอยากพูดอีกครั้งว่าวันนี้เราต้องกล้าที่จะมีสถาบันหรือองค์กรเกี่ยวกับนโยบายภาษี ทั้งรายจ่ายและรายรับ ซึ่งไม่ควรผูกขาดให้มีผู้คิดคนเดียว สิ่งที่ผมพูดหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เรื่อง BOI ก็ไม่เป็นธรรม แต่ผมพูดเพราะผมมีประสบการณ์
     แม้แต่ Eastern Economic Corridor (EEC) นอกเราจะไปยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ แล้วยังปล่อยให้เขามาเช่าที่ดินและต่ออายุได้เก้าสิบกว่าปี ถามว่าคนไทยได้อะไรจากสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ผมเห็นด้วยกับการพัฒนา แต่ก็ต้องมีการตั้งคำถาม เพราะพรรคประชาชาติมองว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน
วันนี้เราไม่มีเพดานการถือครองที่ดิน ยิ่งปฏิรูปป่าไม้ ป่ายิ่งหาย หายปีละ เป็นแสนล้านไร่ ทั้งๆ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้งบประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท กระทรวงทรัพย์จะแย้งว่ายึดที่ คืนถึง 6แสนไร่ แต่ที่ป่าหายคือภาพถ่ายทางอากาศเทียบต่อปีพบว่าป่าถูกทำลาย ส่วนที่ยึดคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองจากคนจนเป็นรัฐแต่สภาพป่าถูกทำลายไป มันน่าจะถึงเวลาที่จะเลิกผูกขาดได้แล้ว อะไรที่เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน ไม่ใช่ทรัพย์ของข้าราชการ
     ผมเคยฝันอยากเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้เรื่องภาษีที่เล็ดลอดอยู่นี้มีความเป็นธรรม ด้วยการเก็บภาษีให้ได้ปีละ 3-4 ล้านล้านบาทโดยไม่ต้องเพิ่มภาษี ผมเขียนในนโยบายพรรคเลยว่า “สิ่งที่เป็นปัญหาคือกฎหมาย” เรามีต้นทุนทางกฎหมายมาก กฎหมายที่เขียนเสร็จก็ไปตกอยู่ในอุ้งมือคนไม่กี่คนหรือคณะกรรมการบางกลุ่ม แม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เกณฑ์การตัดสินว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กรรมการก็มาจากข้าราชการ
คณะกรรมการมีหลายคณะ ก็น่าจะมีคณะกรรมการที่ดูเรื่องความยุติธรรม โดยความยุติธรรมประการหนึ่งก็คือต้องมีจิตใจรักประชาชน ไม่ใช่มีจิตใจเป็นข้าราชการ ไม่เช่นนั้นก็จะหาเงินเข้ารัฐ ไม่ได้ใช้เงินกับประชาชน คดีภาษีทุกคดีจะเป็นเรื่องของผู้จัดเก็บกับผู้ถูกประเมิน ปัญหาก็คือพอเรารู้ว่าผิดแน่นอนก็ยังมีฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซง สังคมในตอนนี้มีคนที่ซื่อสัตย์แต่อ่อนแอ ทำให้คนไม่ดีเข้มแข็งด้วยการใช้คนซื่อสัตย์ทำงาน โดยเฉพาะภาครายจ่ายงบประมาณ ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่เราจัดงบประมาณให้กระทรวง ทบวง กรม  สมัยผมเป็นอธิบดี DSI มีคนประมาณ 200 กว่าคนไปของบประมาณ และมีคนในกระทรวงการต่างประเทศ 30 กว่าคนไปของบประมาณเหมือนกัน ในขณะที่จังหวัดใหญ่ๆ บางจังหวัดมีคนเป็นล้านกลับไม่มีสิทธิของบ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้ฐานชุมชนท้องถิ่น เพราะเขารู้ปัญหาท้องถิ่นดี นอกจากนี้มนุษย์ไม่มีใครโง่กว่าใคร ท้องถิ่นก็มีความฉลาด ผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าไปบริหารจัดการอย่างยุติธรรม การรั่วไหลทางภาษีที่เราไปยกเว้น หรือสิทธิพิเศษแก่คนกลุ่มหนึ่งที่ให้เขาโดยตลอดก็จะเปลี่ยนเป็นเงินได้หลายล้านบาท
     ผมเห็นด้วยกับมูลนิธิฯ ที่เสนอการคำนวณภาษียากๆ ให้เหลือแค่ภาษีน้ำพักน้ำแรง ภาษีทรัพย์สินและการลงทุน และเงินจากธุรกิจอื่น ประเทศไทยมีคนเสียภาษีที่ชัดเจนอยู่ 2 ประเภท คือภาษีบุคคล ซึ่งมนุษย์เงินเดือนหนีไม่ได้ และภาษีทางอ้อมที่ประชาชนทั้งประเทศต้องเสีย คือภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
งบประมาณรายจ่ายบุคลากร(ข้าราชการ)ของประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่า 1 ล้านล้าน 6 หมื่นบาท ในขณะที่ท้องถิ่น 7.8 พันแห่ง มีงบประมาณเพียง 3 แสนล้านบาท ประชาชนจำนวนมากจึงอยากเป็นข้าราชการ แต่ผมคิดว่าเมื่อภาษีเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ก็ต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน การลดหย่อนภาษีกับมนุษย์เงินเดือนก็จำเป็นต้องมี แต่ก็ต้องมีรูปแบบที่นำไปสู่การพัฒนา
     ผมขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้หญิงมีการศึกษาไม่สูงนัก แต่ลูกมีการศึกษาสูง ประเทศสิงคโปร์จึงสร้างนโยบายการศึกษาแก่สุภาพสตรีที่เป็นแม่บ้าน โดยลดภาษีเพื่อให้แม่มีการศึกษา เขามองว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้ประเทศก็ได้กำไร แต่ประเทศไทยอาจไม่ได้มองแบบนั้น เราเห็นคนที่เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ จึงใช้หนี้ กยศ. ไม่ได้ แล้วก็ถูกฟ้อง ผมคิดว่าน่าจะเปลี่ยนวิธีคิด การลดหย่อนภาษีกับมนุษย์เงินเดือนก็มีส่วน เพียงแต่จะทำอย่างไรก็ต้องดูภาพรวมของประเทศ ในขณะที่คน 60 ล้านกว่าคนต้องเสียภาษี (ทางอ้อม) อยู่
ขอบคุณภาพ/ข่าวอับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น