โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ยะลา "วันนอร์". หน.พรรคประชาชาติ ประชุมหารือชาวสวนยางแก้ปัญหาวิกฤติยางพารา

ยะลา "วันนอร"หน.พรรคประชาชาติ ประชุมหารือชาวสวนยางแก้ปัญหา วิกฤติยางพารา



     “วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติ ประชุมชาวสวนยางหารือแก้ปัญหาวิกฤติยางพารา เสนอแนวคิดแก้ปัญหายางพาราด้วยบาร์เตอร์เทรด แลกเปลี่ยนสินค้ายางพารากับต่างประเทศ มั่นใจจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ในระยะยาว. 


        เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 61 ที่ห้องประชุมศรียะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพารา

           โดยมีนายวรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ, คณะกรรมการสมาพันธ์ยางพารา 16 จังหวัด, ตัวแทนเจ้าของสวนยางพารา, ตัวแทนผู้รับจ้างกรีดยางพารา, ตัวแทนผู้ประกอบการยางพารา, ตัวแทนศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ จ.ยะลา, การยางแห่งประเทศไทย จ.ยะลา

        และอีกหลายภาคส่วน ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งพรรคประชาชาติจะนำผลการหารือในครั้งไปกำหนดเป็นนโยบายพรรคต่อไป

     โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติได้เสนอแนวคิดเบื้องต้นว่าปัญหาเรื่องยางพาราต้องแก้ด้วยหลายมาตรการ ข้อแรกคือ แก้กฎหมายเก่าๆ เช่น พ.ร.บ.สงเคราะห์กองทุนสวนยาง และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย

       ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่เราต้องการให้คนเกิดการปลูกยางจำนวนมาก แต่ปัจจุบันปัญหาได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้เราไม่ต้องส่งเสริมให้ปลูกยางเพิ่ม แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ปลูกยางลดลง และจะทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน ควรมีมาตรการแทรกแซง เช่นการปลูกพืชอื่นเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

           ประการที่ 2 คือ ต้องมีการวิจัยพัฒนายาง โดยไม่พึ่งการส่งออกเพื่อให้จีนผลิตยางรถยนต์อย่างเดียว เพราะยางสามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอีกหลายประเภท เช่น เสาไฟฟ้าหรือรางรถไฟ หากวิจัยเติมสารเคมีน่าจะทำให้แข็งได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เล็กๆ เช่น กรอบแว่นตา เข็มขัด ก็สามารถแปรรูปได้ ซึ่งการเริ่มต้นอุตสาหกรรมอาจต้องใช้ทุนสูง รัฐบาลต้องมีอะไรจุนเจือประชาชน เราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้กระจายออกไปหลายชนิด ต้องอาศัยการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ทดแทนการส่งออกน้ำยางให้จีนเพียงอย่างเดียว


         ประการที่ 3 เราจะทำ “บาร์เตอร์เทรด” เช่นการซื้อน้ำมันแลกกับยางพารา เพราะต่างประเทศเขาต้องการยางพารา ส่วนเราต้องการน้ำมัน ก็ให้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน เช่นเดียวกับหลายประเทศก็มีการใช้วิธีการบาร์เตอร์เทรด เช่น มาเลเซียจ้างจีนทำรางรถไฟจากปาดังเบซาร์ไปยังกัวลาลัมเปอร์โดยไม่ได้จ่ายด้วยเงินสดทั้งหมด ในจำนวนนี้ 10% ผ่อนจ่ายระยะยาว อีก 50% จ่ายด้วยน้ำมันปาล์ม ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาเลเซียจึงไม่เดือดร้อน เพราะรัฐบาลได้แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศกันได้

 
          เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียได้จ้างจีนสร้างรางรถไฟระยะทางยาวเชื่อมทั้งประเทศ จากนครเจดดาห์ ไปนครมาดินะห์ ไปกรุงริยาด รวมเป็นเงินหลายแสนล้านบาท แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะเอาน้ำมันไปแลกกับจีน สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ซาอุดีอาระเบียได้รถไฟ ส่วนจีนได้น้ำมัน

             ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยซื้อเครื่องบิน เรือรบ รถถังจำนวนมาก ทำไมไม่แลกกับพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร พรรคประชาชาติมุ่งทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง หากรัฐบาลคิดแต่ผลประโยชน์กันก็ไม่สมควรเป็นรัฐบาล

               นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ จึงฝากบอกกับประชาชนไทยทั่วประเทศว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ให้เลือกรัฐบาลที่อาสามาแก้ปัญหาในระยะยาว และมุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง

                 ซึ่งพรรคประชาชาติเป็นพรรคที่มีนักการเมืองจากทางภาคใต้จำนวนมาก เราอยู่กับสวนยางและมีรายได้จากสวนยางพารา จึงได้ให้ความสำคัญมากต่อเรื่องนี้ ซึ่งเราต้องคิด และต้องลงมือทำให้ได้ตามที่ประชาชนได้ให้ความไว้วางใจ


          นายมูฮัมหมัดฟาฎิล สตอพา เจ้าของสวนยางพาราจาก อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นหนึ่งในตัวแทนที่มาร่วมสะท้อนปัญหา บอกว่า ราคายางตกต่ำมากเกินไป ในขณะที่มีค่าครองชีพสูง จนมีปัญหา ไม่มีเงินส่งลูกเรียน เพราะตนมีรายได้หลักมาจากสวนยาง ซึ่งหากราคายางพาราสูงเหมือนเมื่อก่อนก็จะสามารถเลี้ยงครอบครัว
          และคิดว่าราคาที่ชาวสวนยางพึงพอใจตามสถาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคือไม่ต่ำกว่า 80 ต่อกิโลกรัมและตนได้เสนอแนะต่อพรรคประชาชาติว่าหากได้เป็นรัฐบาล ให้จัดตั้งศูนย์รับยางพาราและกระจายสินค้าออกไป ปัจจุบันมีพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อยางส่งขายให้โรงงาน แต่เกษตรกรมักถูกเอาเปรียบด้านราคาเสมอมา ซึ่งหากมีศูนย์ในตำบลก็จะสามารถควบคุมราคายางพาราได้



ขอบคุณภาพข่าว อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น