โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) ห่วงอนาคต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงช่วยหาทางดับไฟใต้

ชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) ห่วงอนาคต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงช่วยหาทางดับไฟใต้
      
       เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2560  ที่ห้องประชุมต้นปาลม์ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดร์แอนด์รีสอร์ต หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายวิสุทธ์ สิงหขจรวรกุล ประธานชมรมข้าราชการบำนาญภาคใต้ (สงขลา) ได้มีการประชุมประจำเดือนขึ้นเป็นวาระพิเศษ เพื่อติดตามความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด มีการใช้คาร์บอมบ์ก่อวินาศกรรมห้างบิ๊กซี กลางเมืองปัตตานี ทำให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 61 ราย

      
       โดยในการประชุมประจำเดือนครั้งนี้ ประธานชมรมฯ ได้เชิญ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย/นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งปฏิบัติหน้าในสนามข่าว จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และเป็นผู้ที่มีตำแหน่งในหน่วยงานความมั่นคง ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้รับทราบ เพื่อที่ทางชมรมฯ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นนักปกครอง
       

       โดย นายไชยยงค์ ได้บรรยายสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดใน 13 ปีที่ผ่านมา เป็นการกระทำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดน ปัตตานีดารุซาลาม ซึ่งขณะนี้ บีอาร์เอ็น ได้มีการสรุปบทเรียนของความพ่ายแพ้ที่แผนบันได 7 ขั้น ไม่สามารถทำได้สำเร็จใน 1,000 วัน ตามแผนการลุกขึ้นมามาก่อการ ในปี 2547
      
       โดยมีอาร์เอ็น ได้สรุปความพ่ายแพ้เนื่องจากงานการเมือง มวลชนยังไม่เข้มแข็งพอ และงานทางการทหารก่อการร้ายไม่ใช่การนำไปสู่ความสำเร็จในการได้เอกราช บีอาร์เอ็น จึงได้วางยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการต่อสู้ไปอีก 15 ปี โดยการวางเป้าหมายไว้ที่ปี 2575 จะเป็นปีที่ประกาศความสำเร็จ
         ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น คือ การใช้เวลานับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา สลายโครงสร้างเก่าในพื้นที่ ทั้งด้านการเมือง และการทหาร เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงรับรู้ได้หมดแล้วว่า ในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีใครเป็นแกนนำ ทั้งด้านการเมือง และการทหาร ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเข้าใจผิดว่าสถานการณ์ดีขึ้น และมีการลดจำนวนหมู่บ้านสีแดงไปกว่าครึ่ง เพื่อให้สอดคล้องต่อการประกาศของรัฐบาลที่ว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น
      
       ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น จึงการใช้เวลา 15 ปี สร้างมวลชนให้สนับสนุนยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นให้ได้ 1 ล้านคน สร้างกองกำกลัง หรือเปอร์มูดอ ให้ได้ 100,000 คน และสร้างนักปฏิวัติ หรือผู้นำรุ่นใหม่ให้ได้ 3,000 คน โดยวิธีการสุดท้ายของบีอาร์เอ็น คือ การสร้างกองกำลังเยาวชน หรือที่เรียกว่า ทหารเด็กให้เกิดขึ้น เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของยูเอ็น หรือสหประชาชาติ เพราะสิ่งที่บีอาร์เอ็น ต้องการไม่ใช่การต่อสู้แตกหักทางการใช้กำลังอาวุธ แต่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาดำเนินการ เพื่อขอประชามติในการอยู่กับประเทศไทย หรือการตั้งประเทศใหม่ เช่นเดียวกับที่จังหวัดติมอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำสำเร็จ ด้วยการแยกจากประเทศอินโดนีเซียไปเป็นประเทศติมอร์เลสเต้ มาแล้ว
      
       นายไชยยงค์ ยังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เป็นกังวลสำหรับฝ่ายความมั่นคงคือ จำนวนไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เหลือเพียง 60,000 กว่าคน จาก 130,000 คน เมื่อปี 2547 ซึ่งหากจำนวนไทยพุทธลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายรัฐบาลอาจจะต้องจ้างให้คนไทยพุทธอยู่ในพื้นที่ เพื่อรักษาแผ่นดินหรือเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน และประเด็นในเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งบีอาร์เอ็นสามารถแทรกแซง จนขณะนี้การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นการศึกษาเชิงเดี่ยว เพราะคนมุสลิมสามารถจัดการศึกษาได้เอง ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในขณะที่โรงแรมของรัฐปิดตัวไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีนักเรียน และหากการจัดการศึกษาเชิงเดียวถูกบีอาร์เอ็นเข้าไปแทรกแซงก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่แก้ยากขึ้น

      
       นอกจากการทำให้การศึกษากลายเป็นการศึกษาเชิงเดี่ยวแล้ว บีอาร์เอ็นยังใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างสังคมเชิงเดี่ยวที่ได้ผล ซึ่งจะพบว่า 13 ปีผ่านไป คนในพื้นที่ถูกแยกจากกันอย่างชัดเจน มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แยกการทำกิจกรรมทุกอย่างแบบของใครของมัน นโยบายพหุวัฒนธรรมที่ ศอ.บต. และ กอ.รมน.ใช้ในการแก้ปัญหายังไม่เห็นมีอะไรที่บอกได้ว่า การใช้พหุวัฒนธรรมทำได้สำเร็จ
        โดย นายไชยยงค์ ได้ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ใหม่ของบีอาร์เอ็น หลังจากที่ได้สลายโครงสร้างเก่า อย่างเช่นใน จ.ปัตตานี มีการ แบ่งเป็น 2 เขตงาน เขตงานที่ 1 คือ อ.เมือง ยะหริ่ง หนองจิก ยะรัง โคกโพธิ์ แม่ลาน และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา มีการจัดตั้งเปอร์มูดอ หมู่บ้านละ 8 คน มีการจัดตั้งผู้นำศาสนาหมู่บ้านละ 5 คน เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนแผนงานทั้งหมด โดยที่ จ.ปัตตานีมีการใช้ยุทธศาสตร์ให้ผู้นำศาสนานำหน้า เปอร์มูดอตามหลัง ในขณะที่ จ.ยะลา และ นราธิวาส ใช้ยุทธศาสตร์ เปอร์มูดอนำหน้า และผู้นำศาสนาตามหลัง
      
       นอกจากนี้ นายไชยยงค์ ยังกล่าวว่า ในงานการเมืองบีอาร์เอ็นสามารถปลูกฝังจิตสำนึกของคนในพื้นที่ให้ยอมรับได้ถึงความสูญเสียที่มุสลิมต้องได้รับจากการทำสงครามประชาชน เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมาย ซึ่งสังเกตได้จากการวางระเบิดที่บิ๊กซีก็ดี การระเบิดเส้นทางรถไฟ และการวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยที่คนในพื้นที่ไม่มีใครออกมาประณาม หรือแสดงความไม่พอใจต่อบีอาร์เอ็น แต่กลับไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐแทนที่ไม่สามารถซ่อม สร้างสิ่งที่ถูกทำลายให้ใช้ได้โดยเร็ว
      
       ในทางการเมืองสิ่งที่น่ากังวลคือ วันนี้บีอาร์เอ็นสามารถจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงแสวงหาความชอบธรรมต่อสังคมในพื้นที่ และสังคมโลก ด้วยการจัดตั้งองค์กรภาคเอกชนถึง 18 องค์กรในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดที่ได้บรรยายสรุป นายไชยยงค์ กล่าวว่า หน่วยงานความมั่นคง ทราบถึงสัญญาณอันตราย และอยู่ในระหว่าของการแก้ไขสถานการณ์
      
       ในขณะที่ นายวิสุทธ์ สิงห์ขจรวรกุล ประธานชมรม ข้าราชการบำนาญ ภาคใต้ (สงขลา) กล่าวว่า ทุกคนที่เป็นอดีตนักปกครองมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงแต่อย่างใด โดยทางชมรมฯ จะสรุปการบรรยายของนายไชยยงค์ พร้อมทั้งหาข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วน และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาส่งไปให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
        

ขอขอบคุณ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น