สื่อจีนตีข่าวไทยส่ง 'โทนี่ เตียว' อาชญากรโกงคริปโตฯ 4 แสนล้านกลับไปให้จีนดำเนินคดี จับตาประมูลขายอาณาจักรหมื่นล้านด่านนอก ใครจะยื่นประมูลบ้าง นักการเมืองบางคนจ้องตาเป็นมัน
กรณีที่ไทยส่งตัวนายโทนี่ เตียว หรือที่ใช้ชื่อนายจาง อาชญากรฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลไปยังประเทศจีน
โดยสื่อจากประเทศจีนรายงานข่าวว่า ทางการไทยได้มีการส่งตัวนายจาง มูมู (Zhang Moumou) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท MBI อันโด่งดังไปยังประเทศจีน หลังจากที่มีการตามล่าตัวนายจางในระดับระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน
สื่อจีนชื่อว่า The Paper รายงานว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้เป็นคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจภายใต้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนจีน-ไทย ซึ่งลงนามในปี 2542 สำหรับพฤติการณ์ของนายจางเริ่มขึ้นในปี 2555 เกี่ยวข้องกับโครงการปิรามิดออนไลน์ที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงผ่านสกุลเงินดิจิทัลเสมือนจริง
ตามรายงาน โครงการ MBI กําหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องชําระค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 700 ถึง 245,000 หยวน (3,328 ถึง 1,165,995 บาท) เพื่อเข้าร่วม รายได้นี้เชื่อมโยงกับการสรรหาสมาชิกใหม่และระดับของเงินทุนที่ลงทุน มีรายงานว่ามีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมากกว่า 10 ล้านคน โดยมีเงินทุนรวมเกิน 1 แสนล้านหยวน (475,916,337,000 บาท) บทบาทของนายจางในปฏิบัติการนี้ทําให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการตัวมากที่สุดของจีน
สํานักความมั่นคงสาธารณะเทศบาลฉงชิ่งตั้งข้อหานายจางอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อมาในเดือนมีนาคม 2564 สํานักงานตํารวจสากล สาขาประเทศจีน ได้ออกหมายแดงสำหรับนายจาง และตํารวจไทยได้จับกุมนายจางเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนทางกฎหมายหลายขั้นตอน ทางการจีนขอให้ส่งนายจางในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการภายใต้สนธิสัญญาทวิภาคี ซึ่งนําไปสู่คําตัดสินของศาลอุทธรณ์ไทยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลไทยยืนยันการตัดสินใจเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ2567 และนายจางถูกส่งตัวกลับไปยังจีนหลังจากนั้นไม่นาน
กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน สถานทูตจีนในประเทศไทย และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย ปฏิบัติการร่วมนี้ดําเนินการภายใต้ "ปฏิบัติการล่าสุนัขจิ้งจอก" ของจีน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
กล่าวสำหรับอาณาจักรโทนี่เตียว หรือ"เตียว วุย ฮวด" หรือ "โทนี่ เตียว" เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ชื่อทางการในภาษามาเลเซียจึงออกสำเนียงจีนที่เขียนด้วยอักษรไทยได้ว่า “เตียว วุย ฮวด” ชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการคือ “เสี่ยวจาง” แต่มีคนจำนวนหนึ่งพานเรียกว่า “เสี่ยจาง” ซึ่งได้ความหมายเช่นกัน ส่วนชื่อเรียกที่ออกไปทางสากลแบบถูกลิ้นฝรั่งและโดยเฉพาะคนไทยด้วยคือ “โทนี่ เตียว” แต่สำหรับคนจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเลอื่นๆ จะผิดแผกไปนิดเรียกขานเขาว่า “เทดี้ เตียว”
“เตียว วุย ฮวด” มีหมายจับเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและฟอกเงินในมาเลเซีย รวมถึงในสาธารณรัฐประชาชนจีน “เทดี้ เตียว” มีหมายจับเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงเช่นกัน เป็นหมายแดงขององค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2563 อายุความตามหมาย 15 ปี หรือกว่าจะหมดอายุความก็ต้องปี 2578 จากคดีฉ้อโกงที่เกิดจาก MBI International Holdings ได้ออกแพลตฟอร์มชื่อ NSC แล้วชักชวนให้คนจีนร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกับ “แชร์ลูกโซ่” แบ่งสมาชิกออกเป็น 8 ระดับ โดยใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรเป็นตัวล่อ แล้วจัดทัวร์พาผู้ร่วมทุนจากจีนไปท่องเที่ยวในอาณาจักรของเครือบริษัทในประเทศต่างๆ แต่ภายหลังทางการมาเลเซียสั่งอายัดทรัพย์ ทำให้ไม่มีเงินไปต่อเงิน จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้นนำมาสู่การออกหมายจับแดงดังกล่าว
การทำธุรกิจในนาม MBI International Holdings ในมาเลเซียและจีน หรือบริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ล้วนตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน คือ เน้นการเรียกเชิญชวนให้ผู้คนให้มาร่วมลงทุนด้วยจากการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ซึ่งต้องใช้ที่ดินนับร้อยนับพันไร่ ภายในโครงการจะประกอบไปด้วยบ้านจัดสรร บ้านพักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต สวนผลไม้นานาชนิด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ สนามกีฬา ห้องประชุมและสันทนาการ ลานจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ แล้วยังเพิ่มเติมด้วยการสร้างสิ่งดึงดูดใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือจุดเช็กอินมากมาย ตามแต่ว่าคนในประเทศที่โครงการตั้งอยู่ชื่นชอบสไตล์ไหน
สำหรับที่เมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา บริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป ได้ลงทุนไปแล้วนับหมื่นล้านบาท ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2550 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา โดยกว้านซื้อที่ดินไว้หลายพันไร่ ภายในโครงการประกอยด้วย โรงแรม 6 แห่ง รีสอร์ต 2 แห่ง อพาร์ตเมนต์ 9 แห่ง สถานบันเทิง สวนสนุก ธุรกิจประเภทเฟอร์นิเจอร์ หมู่บ้านวัฒนธรรมอาเซียน มีการจำลองวัดร่องขุ่น พระพิฆเนศองค์ใหญ่ สวนไดโนเสาร์ เมืองคาวบอย ฟิวเจอร์ปาร์ค ฟาร์มม้า สวนแพนด้า กระทั่งศาลไคฟงก็ยังมี
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานไว้ว่า บริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป สัญชาติมาเลย์เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยครั้งแรกปี 2545 แล้วในปี 2559 ขยับขยายบริษัทในเครือเพิ่มเป็น 15 บริษัท รวมทุนจดทะเบียนได้ 662.5 ล้านบาท แบ่งเป็นใน อ.สะเดา และ อ.นาทวี จ.สงขลา 14 บริษัท และที่กรุงเทพฯ 1 บริษัท เช่น บริษัท บิลเลี่ยนคอนโด จำกัด ทำธุรกิจโรงแรม จดทะเบียน 4 กันยายน 2545 ทุน 51.5 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 49% บริษัท เอ็มวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โรงแรม จดทะเบียน 18 มกราคม 2551 ทุน 100 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 30% บริษัท เค.เอ.ดับเบิลยู. จำกัด โรงแรม จดทะเบียน 30 กันยายน 2551 ทุน 125 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 60% บริษัท เอ็มบีไอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 30% และนายเตียว อี เม้ง 10% (มาเลเซีย) และบริษัท เซาท์เทิร์น เอเซีย จำกัด อสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียน 3 ธันวาคม 2558 ทุน 300 ล้าน
ส่วนอาณาจักรของเสี่ยวจางจะเกี่ยวข้องกับใคร นักการเมืองคนไหนบ้าง ในวงการเมืองพอจะรับรู้กัน มีผู้มากบารมีในสงขลาเกี่ยวแน่นอน
ให้จับตาว่า เมื่อ ปปง.ซึ่งยึดทรัพย์เสึ่ยว จาง ไว้หมดแล้ว เมื่อเปิดประมูลขาย ใครจะเป็นคนเข้ายื่นประมูลบ้าง อาจจะมีนักการเมืองบางคนจ้องตาเป็นมันก็ได้
#นายหัวไทร
#ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน
#เสี่ยงจาง
#โทนี่เตียว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น