โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2566

เช็กไทม์ไลน์การเลือกตั้ง…..; นายหัวไทร

 เช็กไทม์ไลน์การเลือกตั้ง…..; นายหัวไทร

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และว่าด้วยการเลือกตั้ง ถือว่าการเมืองเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มร้อยแล้ว

หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ.2566 และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับ นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาหรือจะให้สภาอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคมก็จะไม่มีปัญหาว่าไม่มีกฎหมายใช้ในการจัดการเลือกตั้งอีกต่อไป

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (จันทร์ที่ 30 มกราคม) ทางสำนักงาน กกต.จะเสนอระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส.ส เข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาและออกเป็นระเบียบโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ กกต.ประจำจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตการเลือกตั้ง


สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะต้องทำการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 400 เขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 27 กำหนดให้ กกต.ต้องส่งรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งไปให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กับ พรรคการเมืองได้แสดงความเห็น

ซึ่งการพิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ซึ่งจะใช้เวลารวม 25 วันและอีก 20 วัน เมื่อได้ดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

สำหรับพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส.หรือไพรมารีโหวต และหากเริ่มนับระยะเวลา 45 วันที่กกต.ขอในการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งจะพบว่าตั้งแต่ 15 มีนาคมเป็นต้นไป หากจะมีการยุบสภาหรือรัฐบาลอยู่ครบวาระวันที่ 23 มีนาคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้งแล้ว

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คงจะได้เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต. กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เมษายน 2566 แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่านายกรัฐมนตรีจะยุบสภาก่อนหมดวาระ มีข่าวหนาหูว่า อาจจะยุบสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก หรือถ้าจะลากไปอีกหน่อยก็ไม่น่าจะเกิน 10 มีนาคม

กล่าวถึงกรณีการที่สภาอยู่จนครบวาระ ก็ต้องมีการเลือกตั้งใน 45 วัน ลองมาเช็กไทม์ไลน์ กันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่เพื่อนับถอยหลังเลือกตั้ง 2566  โดยกำหนดการตามกรอบเวลาของกฎหมาย ที่กำหนดไว้ชัดเจน มีดังนี้ 

-23 มีนาคม ครบวาระสภาฯ อายุของส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ  ม.102 ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน 

-30 มีนาคม วันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้

-31 มีนาคม กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและประกาศกำหนดวันรับสมัคร 

-3-7 เมษายน วันเปิดสมัครรับเลือกตั้ง

-14 เมษายน กกต.จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

-26 เมษายน วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง และเพิ่ม-ถอนชื่อ

-30 เมษายน วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

-1-6 พฤษภาคม แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันก่อนหย่อนบัตร

-7 พ.ค. กกต. กำหนดให้เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้ง 

-8-14 พฤษภาคม กกต.เปิดให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันหลังหย่อนบัตร

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่  หาก พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ตัดสินใจยุบสภาฯ ในวันสุดท้ายของสภาผู้แทนฯ คือวันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็จะทำให้กรอบระยะเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้งจะไปสิ้นสุดในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566  ดังนั้นถ้าหากใช้วิธีนี้ วันเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดก็น่าจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566  ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทางนี้หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศบนเวทีปราศรัยที่ชุมพรแล้วว่า ยังไม่มีการยุบสภาในเวลานี้ แต่ไม่ได้บอกนะว่าจะไม่มีการยุบสภา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น