โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565

"อธิบดี" ตำแหน่งแห่งผลประโยชน์

 "อธิบดี" ตำแหน่งแห่งผลประโยชน์


หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันนี้พากันพร้อมใจพาดหัวข่าวใหญ่เกี่ยวกับอธิบดีกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “รวบอธิบดีกรมอุทยานฯ หรือ ครม.เดือด แต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวง”

ประเด็นแรกคือ เช้าของวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) บุกเชิญตัว นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในระหว่างการประชุมร่วมกับผู้บริหารส่วนต่างๆของกรมอุทยานฯทั่วประเทศ ที่อาคารสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมฯอีกจำนวนมากรอมอบของขวัญปีใหม่ ถือว่าสั่นสะเทือนกรมอุทยานฯอย่างยิ่ง

นายรัชฏา โดยข้อหา  “เป็นเจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดย ไม่ชอบด้วยหน้าที่ และ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต” ถือว่ารุนแรงอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ จากการตรวจค้นห้องทำงานของ นายรัชฎา ยังพบเงินสดประมาณ 5 ล้านบาทอยู่ในตู้เซฟ และส่วนหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะทำงาน ตำรวจจึงทำการยึดไว้ตรวจสอบต่อไป แต่นายรัชฏายังให้การปฏิเสธอยู่ และจะให้การในชั้นศาล

กล่าวสำหรับนายรัชฏาเป็นน้องชายคนเล็กของ พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา เตรียมทหารรุ่น 12 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ภายหลังได้ขอลาออกเนื่องจากเหตุผลได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล (วน.47) อธิบดีคนเก่า ที่หมดวาระเนื่องจากดำรงค์ตำแหน่งมาครบ 8 ปี และเป็นการได้รับการแต่งตั้งท่ามกลางข้อครหาความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันเองของศิษย์วนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

นี้คือข่าวที่ครึกโครมชิ้นแรกเกี่ยวกับอธิบดี ส่วนอีกประเด็นคือการแต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวง ช่วงหนึ่งที่ประชุม ครม.หารือถึงวาระการแต่งตั้ง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม 

ซึ่งนายสุพิศนั่งเป็นรองอธิบดีอยู่แล้ว และเป็นชาวจังหวัดสงขลาบ้านเดียวกับนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายสุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีมือใหม่ ได้ยกมือทักท้วงไม่เห็นด้วย นายกฯ ถามไปยังเลขาฯครม.ว่า สามารถทักท้วงในที่ประชุมได้หรือไม่ โดยเลขาฯครม. ชี้แจงว่า ทำได้ จากนั้นที่ประชุมผ่านการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปประชุมเรื่องอื่นต่อ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารืออีกครั้งโดยระบุว่า ตนกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ และได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ยืนยันเสนอชื่อ นายสุพิศ  ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แย้งว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวงฯ เป็นโควตาในกำกับของรัฐมนตรีพลังประชารัฐ และได้ตกลงกับนายเฉลิมชัย แล้วว่าจะเป็นคนอื่น 

ตลก และไร้มารยาทมากๆ ของ พล.อ.ประวิตร กับการ กล่าวอ้างว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวง เป็นโควต้าของพรรคพลังประชารัฐกลางวงประชุม ครม.ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรพูดในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลด้วย ที่สำคัญกระทรวงเกษตรฯ บริหารโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล นายสุนทรในฐานะรัฐมนตรีหน้าใหม่ก็ไม่ควรอย่างยิ่งกับการเสนอแย้ง

งานนี้ต้องชื่นชม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่กล้าออกมาให้ความเห็นว่า ในที่ประชุมครม. เป็นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรยกเรื่องโควตาพรรคมาพูดกัน และตามกฎหมายผู้มีอำนาจแต่งตั้งอธิบดีคือปลัดกระทรวงเกษตรฯ อันเป็นความเห็นที่ดักคอพี่ ป.ประวิตร

นายกรัฐมนตรีได้ตัดบทให้ผ่านเรื่องนี้ไปก่อน ทำให้การแต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวงยังคงค้างคาอยู่ และประเด็นความขัดแย้งใน ครม.เป็นเรื่องผลประโยชน์ของบุคคล /กลุ่มบุคคล ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมยิ่งการแต่งตั้งล่าช้าประชาชนจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ 


หรือว่าตำแหน่งระดับอธิบดี หรือระดับ 10 เดิม เป็นตำแหน่งที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ ทำให้ใครๆก็อยากเป็น หรืออยากเอาคนของตนเองไปวางไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ป้อนกลับมาสู่วงจรทางการเมือง หรือใครว่าไม่จริง 

 #นายหัวไทร #อธิบดีกรมอุทยาน #อธิบดีกรมฝนหลวง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น