4 ภารกิจยากที่ “ลุงตู่” ต้องตัดสินใจ ; นายหัวไทร
หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยังอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี โดยเริ่มนับตั้งแค่วันที่ 6 เมษายน
วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อถึงปี 68
เดินทางกลับเข้าทำเนียบทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้
ภารกิจเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม เข้าทำเนียบให้บรรดาเอกอัคราชทูต
ทูตที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่เข้าพบ
วันอังคารก็จะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ และวันพฤหัสบดีที่ 6
ตุลาคม จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจากฤทธิ์ของพายุโนรู ที่จังหวัดอุบลราชธานี
แต่หลังจากนี้ยังมีภารกิจที่ต้องตัดสินใจทันทีอีก
4 เรื่องที่รออยู่
-ภารกิจแรกคือการตัดสินใจว่าจะปรับคณะรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือไม่
4 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนิพนธ์ บุญญามณี
จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกไปสู่คดีมนชั้นศาลกับ ป.ป.ช.ที่ถูก
ป.ป.ช.กล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่
ไม่เบิกจ่ายงบให้บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลรถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทางของ
อบจ.สงขลา สมัยเป็นนายกฯอบจ.สงขลา ด้วยเหตุผลว่า พบมีการฮั้วประมูล
แทนตำแหน่งของกนกวรรณ วิลาวัลย์ พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา
หลังศาลประทับรับฟ้องคดีบุกรุกป่าเขาใหญ่ ถือเป็นการละเมิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย
มีคดีตัวอย่างที่ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐโดนมาแล้ว
ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
ปรับแทนตำแหน่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ
ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์กลางสภา แต่แผนรั่วเสียก่อน
จึงถูกเตะออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
ปรับแทน ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
พร้อม ร.อ.ธรรมนัส จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์เช่นกัน
ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และ ดร.นฤมล เป็นเด็กในคาถาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
และหลังจากถูกปลดก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครมาแทน แต่ในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง
เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง จึงน่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในเร็ววัน
เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็จะหมดวาระลงพร้อมวาระของสภาในวันที่ 23 มีนาคม 2566
-ภารกิจที่สองคือการเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายนนี้
ที่สำคัญคือจะแก้หน้าอย่างไรกับการที่ผู้นำโลกอย่าง “โจ ไบเดน”
ไม่มาร่วมประชุมด้วย แค่ขออยู่ร่วมงานแต่งงานของหลาน
ที่สำคัญคือในฐานะเจ้าภาพต้องจัดงานให้เป็นที่ประทับใจ เกิดประโยชน์กับชาติประเทศ
และประเทศไทยให้มากที่สุดด้วย
-ภารกิจที่หนักอึ้ง คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เห็นผลก่อนการเลือกตั้ง
ชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนจะต้องได้รับการแก้ไขด่วน
รวมถึงปัญหาน้ำมันแพง สินค้าแพง ปุ๋ยแพง แต่ราคาผลิตผลการเกษตรบางตัวตกต่ำ
ปาล์มเคยราคาพุ่งไปถึง 11-12 บาท/กก. แต่ช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์
ราคารูดลงมาอยู่แค่ 5 บาท/กก.ในขณะที่ปุ๋ยราคาปรับขึ้นไป 120% จากเดิมกระสอบละ 800
บาท ปรับไปอยู่ที่กระสอบละ 1800-2000 บาท ราคาปาล์มรูดลงมาแล้ว
แต่ราคาปุ๋ยยังค้างเติ่งอยู่ที่เดิม ทำให้ต้นทุนการปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่
5.90 บาท/กก.แล้ว แต่รัฐบาลยังประกันรายได้อยู่ที่ 4 บาท/กก.ยังไม่มีการทบทวน แถมยังมีการอนุมัติน้ำเข้าน้ำมันปาล์มมาอีก
ทำให้สต็อกปาล์มมีมากถึง 300,000 ตันแล้ว
จนกระทรวงพลังงานต้องปรับสูตรสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล จาก B 5
B7 เป็น B 10 เพื่อลดสต็อกน้ำมันปาล์มลง
ยังรวมถึงยางพาราที่ราคาก็ไม่ดี
ปุ๋ยยังมาแพงอีก รัฐบาลต้องควักเงินภาษีมาชดเชยราคายางพารา
-ภารกิจสุดท้ายคือ หลังประชุมเอเปก นายกฯประยุทธ์จะต้องตัดสินใจว่า
จะยุบสภา หรือจะอยู่ต่อจนหมดสมัย ซึ่งถ้าตัดสินใจว่ายุบสภา
ก็น่าจะเกิดขึ้นปลายธันวาคม หรือต้นมกราคม
หรือจะลากต่อไปจนถึงใกล้หมดวาระถึงยุบสภา เพื่อจะได้ทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ เพราะถ้าอยู่จนหมดวาระก็จะไม่ได้เป็นรัฐบาลรัฐบาล
ที่สำคัญที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ ถ้าพอแค่นี้ก็จบข่าว เก็บกระเป๋ากลับบ้าน แต่ถ้าจะไปต่อก็ต้องมาร่วมกันพิจารณาว่าจะไปต่ออย่างไร ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในฐานะขาลง หรือไปกับพรรคใหม่ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่แนวทางชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า “เอกนัท พร้อมพันธุ์” เลขาธิการพรรคยืนยันชัดเจนว่า
จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรค (พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค) เป็นคาดิเดตนายกรัฐมนตรี
ไม่ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีทางเลือกแค่พรรคพลังประชารัฐ
ที่โอกาสจะได้เสียงมากจนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองคงจะยากแล้ว
ต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่นในการจัดตั้งรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย
พรรคสร้างอนาคตไทย รวมไทยสร้างชาติ หรือจะยังเลือกประชาธิปัตย์อยู่หรือไม่
หรือตะพลิกขั้วไปเลย ไปจับมือกับเพื่อไทย
เพราะซีกนี้มีอำนาจต่อรองตรงที่มีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในมือ 250 เสียง
อยู่ที่ว่าเพื่อไทยจะเอาด้วยหรือเปล่า แต่การเมืองอะไรก็ได้เกิดขึ้นได้
ถ้าการเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันลงตัว
นี้คือ 4 ภารกิจยากของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐนาวาลำนี้
ภารกิจที่ต้องตัดสินใจจะเดินหน้า หรือพอแค่นี้กับอายุที่ย่าง 68 ปีแล้ว
#นายหัวไทร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น