โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“นิพนธ์” มั่นใจรับมือศึกซักฟอก ตอบได้ทุกประเด็น

 “นิพนธ์” มั่นใจรับมือศึกซักฟอก ตอบได้ทุกประเด็น



“หาเอกสาร 5 ประเทศ เป็นบริษัทผี-ฮั้วประมูล”

……..

นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ถึงความพร้อมในการรับมือกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะมีขึ้นช่วง 19-22 กรกฎาคมนี้

…….

ขณะนี้เข้าสู่ช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ก็ถือว่านับถอยหลัง เตรียมเข้าสู่โหมด ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอีก 10 รัฐมนตรี ที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดจากนี้ไปอีกไม่นาน คือประมาณ 19  ก.ค. 


นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติรอบนี้ด้วย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย บนคำยืนยันว่ามั่นใจสามารถชี้แจงทุกข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ทุกประเด็น 


-ประเมินและเก็งข้อสอบในการอภิปรายของฝ่ายค้านไว้อย่างไรบ้าง?


ผมคิดว่าเรื่องที่จะอภิปรายผม อาจจะเป็นเรื่องสมัยผมเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่ก็เป็นเรื่องเก่า เพราะที่จริงแล้วประเด็นที่ อบจ.สงขลาไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ในสมัยที่ผมเป็นนายก อบจ. ก็ได้อธิบายและชี้แจงไปแล้วถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่จ่ายเงินค่ารถดังกล่าวในช่วงนั้น ที่โดยสรุปคือการจัดซื้อรถดังกล่าว ทาง อบจ.สงขลามีการจัดซื้อก่อนผมไปเป็นนายก อบจ.สงขลา พอผมไปรับตำแหน่งก็มีการส่งมอบกันแล้ว และต่อมามีการร้องเรียนจากบริษัท ไทย วินเนอร์ ทรัค จำกัด ที่ร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน ทั้งที่ อบจ.สงขลา, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในช่วงพฤศจิกายน 2556 ว่ามีการล็อกสเปก จนในที่สุด ผวจ.สงขลาได้มีหนังสือมา ซึ่งก่อนที่ ผวจ.สงขลาจะมีหนังสือมา ผมเองก็สั่งให้ไปตรวจระบบว่าระบบมันใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะว่าผมไม่ได้เป็นคนกำหนดสเปก พอไปตรวจระบบก็แจ้งมาว่าระบบมันใช้ได้ กรรมการที่ตั้งไปโหวตว่าระบบใช้ได้


ต่อมาบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ก็มารับรถไปทดสอบ แล้วพอไปทดสอบกรรมการบอกแล้วรถใช้ได้ เขาก็มารายงานผม ผมก็ให้ขึ้นทะเบียน โดยเซ็นมอบอำนาจให้บริษัท พลวิศว์ฯ ไปขึ้นทะเบียน คือถ้าผมจงใจที่จะไม่จ่าย ผมต้องไม่มอบอำนาจให้ไปขึ้นทะเบียน เพราะว่าขั้นตอนการเบิกจ่ายต้องเอารถนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของ อบจ.เสียก่อนที่ขนส่ง แล้วจึงจะมาออกจ่ายเช็คได้ เพราะเป็นระเบียบของกระทรวงมหาดไทย


ตอนนั้นพอเขารายงานว่ารถและระบบใช้ได้ ตามที่ผมสั่งการไปให้ตรวจสอบ ผมก็ไม่มีอะไร กำลังจะมอบอำนาจให้นำรถไปขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของ อบจ. สงขลา ซึ่งวันเดียวกันมีหนังสือจากจังหวัดมาถึงผม อันเป็นหนังสือที่ลงนามโดยรองผู้ว่าฯ สงขลา ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 แจ้งว่ามีการร้องเรียนเรื่องนี้ ซึ่งข้อร้องเรียนที่โดยสรุปคือมีการล็อกสเปก และในหนังสือก็บอกว่าให้ระงับการจ่ายเงินและให้รายงานข้อเท็จจริง


ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือของรอง ผวจ.สงขลา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ ผมก็ถือว่าเป็นหนังสือของ ผวจ.ที่กำกับ อบจ. เมื่อสั่งมาแบบนี้ก็ต้องฟังทำตาม ผมก็ทำตามหนังสือดังกล่าว โดยให้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยเมื่อตั้งกรรมการสอบ ผมก็แจ้งผู้ว่าฯ และแจ้งบริษัท พลวิศว์ฯ ว่ามีการตั้งกรรมการสอบแล้ว แต่จะเร่งรัดให้ และต่อมากรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปมาว่ามีการฮั้ว


พอกรรมการสรุปแบบนี้ ผมก็ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ซึ่งขณะที่ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผมก็แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยในหนังสือที่ส่งถึง ผวจ.สงขลา ผมทำหนังสือรายงานผู้ว่าฯ เพื่อแจ้งว่าผมได้ตั้งกรรมการสอบแล้ว ตามหนังสือที่ส่งมาก่อนหน้านี้ และผลสอบออกมาพบว่ามีการฮั้ว เป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้ว


ต่อมา ผวจ.สงขลาสั่งการลงมาให้ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2552 โดยหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ในข้อ 2 ระบุว่า "เมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน"


"หนังสือกระทรวงมหาดไทยบอกให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน ผมก็ต้องหยุด การที่ไม่จ่ายคือการปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นการที่ผมปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย แล้วผมประพฤติมิชอบได้อย่างไร สิ่งนี้คือเหตุผลทั้งหมด"

...นี่คือการที่ไม่ได้จ่าย เพราะเขาสั่งให้ไม่จ่าย แต่ระหว่างนั้นบริษัท พลวิศว์ฯ ไปฟ้องศาลปกครอง เรื่องก็มีอยู่แค่นี้ และต่อมาผมยังมาพบเพิ่มเติมว่ามีการปลอมลายมือชื่อ มีการทำเอกสารปลอม ผมตั้งกรรมการสอบการปลอมลายมือชื่อ ที่ต่อมากรรมการสรุปผลว่า มีการปลอมแปลงลายมือชื่อ และส่งเรื่องมาถึงผม ซึ่งผมก็เห็นชอบตามที่เสนอ เพราะปรากฏความผิดทางอาญา จึงสั่งให้แจ้งความดำเนินคดีว่ามีการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม


หาเอกสาร 5 ประเทศ 

พบเป็นบริษัทผี-ฮั้วประมูล


นิพนธ์-รมช.มหาดไทย กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดคือที่มาของการสอบสวนเอาผิดเรื่องการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม มีการฮั้ว ที่พบว่ามีการไปปลอมเอกสารมาจากออสเตรเลีย ไปปลอมมาจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปลอมมาจากมาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ รวมถึงอังกฤษ ผมใช้เวลาหาเอกสารจากต่างประเทศถึง 5 ประเทศ เลยมีการแจ้งความว่ามีการฮั้วกัน โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้ไปปลอมเอกสาร ที่ก็คือทั้งหมดอยู่ในเครือเดียวกันหมด เป็นที่มาในการจัดซื้อครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 ก็ใช้เอกสารปลอมนี้ แต่ของผมจัดซื้อครั้งที่ 3 ซึ่งจัดซื้อครั้งที่ 3 มีจำนวน 2 คัน ส่วนการจัดซื้อครั้งที่ 1 จัดซื้อ 1 คัน ในช่วงปี 2555 และจัดซื้อครั้งที่ 2 อีก 1 คันปี 2555 โดยจัดซื้อในปีเดียวกัน แต่ซื้อ 2 ครั้ง 2 คัน พอปลายปี 2556 มาซื้ออีก 2 คัน


ผมไปเจอเอกสารแบบนี้มาทั้งหมด หลังในการสอบพบว่าติดต่อไม่ได้ กรรมการสอบบอกว่าไม่มีตัวตน ติดต่อไปตามที่อยู่ที่ปรากฏก็ถูกตีกลับ ผมก็สงสัยว่าทำไมติดต่ออะไรไม่ได้เลย เว็บไซต์ก็ไม่ได้ โทรศัพท์ก็ไม่ได้ ก็ปรากฏว่าบริษัทไม่มีอยู่จริง เป็นบริษัทผี ออสเตรเลียรับรองมาให้ว่าบริษัทนี้ไม่มีอยู่ในสารบบทะเบียนบริษัทของออสเตรเลีย จึงเป็นที่มาที่ผมเคยบอกเอาบริษัทผีมาเป็นบริษัทคู่เทียบ แล้วก็เอาเงื่อนไขไปสร้างสเปก บางทีก็ปลอมสเปกขึ้นมา มันก็เลยไม่มีคู่แข่ง ที่มาที่ไปก็เป็นแบบนี้ ทางผมและ อบจ.สงขลาก็แจ้งความ จนตำรวจมีความเห็นทางคดีว่ามีมูล พอตำรวจสั่งว่าคดีมีมูลและเรียกตัวไปเพื่อจะส่งฟ้องคดี แต่ทางบริษัท พลวิศว์ฯ ก็ไม่ไปพบตำรวจ มีการไปร้องขอให้ส่งเรื่องไปยังกองปราบปราม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็สั่งให้ตำรวจสงขลาส่งสำนวนไปยังกองปราบปราม ทางกองปราบปรามก็นำหลักฐานจากตำรวจสงขลามาพิจารณา ซึ่งตอนนั้นสรุปว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ มีการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมมาใช้ในหน่วยงานของรัฐ


ต่อมากองปราบปรามเอาพยานหลักฐานในคดีมาพิจารณา ก็เห็นด้วยกับทางตำรวจสงขลาว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง มีการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม จึงสรุปสำนวนว่ามีความผิดและส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช. เพราะคดีหากพบว่าเกี่ยวกับฮั้วต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ ก็ส่งไปตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 ผลยังไม่ออกมา


นิพนธ์-รมช.มหาดไทย กล่าวต่อไปว่า แต่ว่าในขณะเดียวกันเมื่อผมไปดูการจัดซื้อรถ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 แล้ว ปรากฏว่ามันใช้เอกสารชุดเดียวกัน ทำให้ อบจ.สงขลาก็เลยไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในการจัดซื้อครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ด้วย ผมก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ จนในที่สุดตำรวจ สภ.สงขลา สรุปสำนวนที่ใครมาเห็นหลักฐานก็สรุปเหมือนกันหมดว่า มีการล็อกสเปก มีการฮั้วกัน เพราะคนในเครือญาติทั้งนั้น ชนะมา 3 ครั้ง 4 ครั้งเครือญาติทั้งนั้น แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไปเอาเงินส่วนตัว แม่ของผู้ชนะ และมอบอำนาจจากฝ่ายชนะในการซื้อครั้งที่ 3 เอาเงิน 2,540,000 กว่าบาท ไปซื้อหลักทรัพย์มาค้ำประกันให้บริษัทคู่เทียบอย่างนี้เป็นต้น


เพราะฉะนั้นจากหลักฐานเหล่านี้ ในที่สุดการจัดซื้อครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก็ทำนองเดียวกัน ในที่สุดตำรวจสรุปสำนวนว่าฮั้ว ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม จึงส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. โดย ป.ป.ช.ไปตรวจสำนวนอยู่ แล้วในที่สุด ป.ป.ช.ก็คืนเรื่องมาที่ สภ.เมืองสงขลา ให้ดำเนินคดีในข้อหาฮั้ว ข้อหาการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม แต่เมื่อไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องจึงขอให้ตำรวจดำเนินการดำเนินคดีต่อ ที่ในที่สุด ป.ป.ช.เองก็ได้มาแจ้งความดำเนินคดีกับพวกฮั้ว แล้วในที่สุดกลุ่มพวกฮั้วดังกล่าว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ก็ออกหมายจับ เพราะ พอเรียกมาไม่ยอมมา ศาลจึงออกหมายจับพวกนี้ 4 คน กลุ่มพวกนี้ 3 คนหนีไปต่างประเทศ ไปกาตาร์ ไปอยู่ต่างประเทศ


-เหตุใด ป.ป.ช.ถึงยังดำเนินการจะยื่นคำร้องต่อศาลอยู่?


ทาง ป.ป.ช.เขาบอกว่าแม้ว่าจะฮั้ว ผมไปเห็นเอกสารตอนที่เขายื่นที่ศาลปกครองกลาง ตอนที่ผมฟ้องเพิกถอนมติ ป.ป.ช.ที่ศาลปกครองกลาง ป.ป.ช.บอกว่าแม้การจัดซื้อดังกล่าวจะฮั้วก็ต้องจ่าย เพราะไปเซ็นโดยชอบแล้ว แต่อันที่จริงผมยังโต้แย้งอยู่ว่า ที่จริงตอนทำสัญญา พอทำสัญญากันแล้ว พอผลสอบออกมาแล้วว่าฮั้ว ผมแจ้งไปที่บริษัท พลวิศว์ฯ เขาขอคืนของกลาง ขอคืนตั๋วค้ำประกัน ผมก็แจ้งกลับไปว่า เรื่องขอคืนผมบอกว่าผมให้คืน เพราะว่าสัญญาระหว่าง อบจ.สงขลากับบริษัท พลวิศว์ฯ เป็นโมฆะ


โดยผมมีหนังสือลงไปตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2558 จึงไม่มีผลผูกพันต่อกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 ทาง อบจ.จึงไม่มีความจำเป็นต้องถือไว้ ให้คืน อันนี้ที่ ป.ป.ช.บอกว่าทำไมผมถึงไม่บอกเลิก ซึ่งโมฆกรรมไม่ต้องบอกเลิก เพราะโมฆกรรมไม่มีผลผูกพันตั้งแต่ต้น มันต่างกับโมฆียะ คนที่เรียนกฎหมายจะรู้ว่าคำสองคำนี้ต่างกัน โมฆกรรมคือไม่มีผลผูกพันมาตั้งแต่ต้น ต่างคนต่างถ้าเป็นโมฆะกันแล้ว ทุกคนกลับฐานะเดิมหมด ส่วนโมฆียะ ต้องบอกเลิกหรือให้สัตยาบันถึงจะมีผลสมบูรณ์ นี่คือหลักกฎหมายเบื้องต้น


ดังนั้นเมื่อผมแจ้งไปแล้ว ผมจึงไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เสียหาย เพราะถ้าเป็นโมฆกรรม กรรมการไปตรวจสอบมาพบว่าผิด มีการฮั้ว แล้วผมยังไปขืนจ่ายเงินให้บริษัท ผมก็โดน เพราะ ผวจ.สั่งให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน ให้ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งผมก็ตั้งกรรมการสอบ แล้วกรรมการสรุปมาว่าฮั้ว แล้วหากผมยังขืนไปจ่ายเงิน ผมก็จะโดนทุจริตเอาด้วย อันนี้ผมโดนละเว้น แต่ผมจะบอกว่าผมจะละเว้นหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อผมปฏิบัติตามที่ผู้ว่าฯ สั่งทุกเรื่อง


นิพนธ์-รมช.มหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ต่อมาผมเพิ่งไปรู้ทีหลังว่าที่ ป.ป.ช.บอกว่าแม้จะพบว่าฮั้วแต่ก็ต้องจ่าย เพราะมีการเซ็นรับแล้ว ผมเพิ่งไปดูหลักฐานตอนหลังอีก ที่บอกว่าผมเซ็นรับ ปรากฏว่าปลัด อบจ.มาเซ็นรับแทนผม โดยที่ปลัด อบจ.ไม่มีอำนาจ เพราะวันที่ผมมารับตำแหน่ง แล้วผมแบ่งงานให้รองนายก อบจ., ปลัด อบจ., รองปลัด อบจ. ผมมอบอำนาจให้ปลัด อบจ.กรณีการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง, ลงนามในสัญญาจ้าง-สัญญาซื้อขาย ใบสั่งซื้อ โดยผมลงนามวันที่ 5 กันยายน 2556


แต่มาพบว่าปลัด อบจ.ที่เป็นประธานตรวจรับการจ้างมาเซ็นในวันที่มีการนัดส่งมอบเอกสาร ตามใบตรวจรับพัสดุ โดยบอกว่ารถส่งมาครบสองคัน แล้วจากนั้นเสนอหนังสือส่งถึงนายก อบจ.สงขลาเพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่ว่าเขามาเซ็นเอง เซ็นในฐานะนายก (อบจ.) ปฏิบัติราชการแทนผม โดยไม่มาถึงผม ทั้งที่วันนั้นผมก็อยู่ที่ อบจ. เขาไม่เสนอผม เขาลงนามเอง ซึ่งผมเพิ่งมารู้ปรากฏภายหลัง เมื่อก่อนผมนึกว่าเขาเซ็นในฐานะปลัด อบจ. แล้วผ่านเรื่องมาให้ผม แต่ที่สำคัญคือ เขามีอำนาจเซ็นแค่วงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท แต่มาเซ็นรับรถที่มีมูลค่า 50,850,000 บาท ซึ่งไม่มีอำนาจเซ็นแน่นอน จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบ เพราะฉะนั้นผมจึงถือว่ามันก็ต้องมีความบกพร่องหลายอย่างในคดีนี้ เพราะเมื่อรับโดยมิชอบ ก็คือไม่มีการรับ พอผมพูดประเด็นนี้ขึ้นมา ป.ป.ช.ก็ไปเอาประเด็นว่าผมไม่ยอมบอกเลิกสัญญา ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเมื่อเป็นโมฆกรรมก็ไม่ต้องบอกเลิก


"ดังนั้นเรื่องนี้ผมอธิบายได้แน่นอน และทุกอย่างเป็นหลักฐานหมด ผมมีหลักฐานทุกอย่าง คราวก่อน ผมก็ชี้ประเด็นแล้วว่ามีการปลอมเอกสาร ปลอมกันมาอย่างไร รอบนี้ผมก็จะชี้เรื่องศาลอาญาคดีทุจริต ภาค 9 ออกหมายจับ เรื่องหนังสือที่ ป.ป.ช.มาแจ้งความที่โรงพัก"

-คดีดังกล่าวทำไมอัยการถึงมีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช. โดยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่ทำไม ป.ป.ช.ถึงเห็นว่าควรและจะยื่นร้องต่อศาลเอง?


หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลก็มีการส่งเรื่องไปให้อัยการ ทางอัยการก็พิจารณาสำนวนอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จนในที่สุดอัยการเห็นว่าสำนวนมีข้อไม่สมบูรณ์ ก็คือมีข้อบกพร่องอยู่ โดยอัยการชี้ข้อไม่สมบูรณ์มาหลายประเด็น จนมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. ที่ประชุมร่วมกัน ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติม ไม่สามารถหักล้างสิ่งที่อัยการสงสัยได้ ทางอัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก็คืนสำนวนให้ ป.ป.ช. อัยการก็ให้ความเป็นธรรมในฐานะที่เขาเป็นผู้ต้องดำเนินคดี แต่เมื่อเขาเห็นพยานหลักฐานแบบนี้ เขาบอกว่ามันไปไม่ได้ ก็ตามที่ผมบอกข้างต้น คือไม่ได้มีเจตนา เพราะในทางอาญามันต้องมีเจตนาเสียก่อน เจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่คนใดคนหนึ่ง แต่ผมไม่ได้มีเจตนา ผมทำตามจังหวัด จังหวัดสั่งให้รายงานข้อเท็จจริง ผมตั้งกรรมการสอบ กรรมการสรุปมาว่ามีการฮั้วกัน ทำผิดกฎหมายฮั้ว ตอนหลังผมมาขยายควาว่ามันฮั้วกันอย่างไร ให้คนไปสืบถึงออสเตรเลีย ไปสืบต่างประเทศ ถึงได้รู้ว่ามีการไปตั้ง "บริษัทผี" ขึ้นมา แล้วใช้เอกสารปลอมมาติดต่อกับหน่วยงานรัฐ จนมีการออกหมายจับ เอกสารทางสถานทูตรับรองมาชัดเจนหมด เป็นเอกสารที่แปลมาโดยถูกต้อง


ที่ผ่านมาผมก็ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม ขอความเป็นธรรมไปที่ ป.ป.ช. ในประเด็นที่บอกว่าคนเซ็นแล้วก็ต้องมีการจ่ายเงิน ผมก็บอกว่าเป็นการเซ็นโดยไม่ชอบ ต่อมาเขาก็มาบอกว่าถ้าโมฆะจริง ทำไมไม่แจ้งยกเลิก ผมก็ชี้แจงว่าได้แจ้งกับพลวิศว์ฯ ไปแล้วว่าสัญญาเป็นโมฆะ ตอนที่ผมคืนหลักทรัพย์ เมื่อสัญญาเป็นโมฆะก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกลับคืนสู่สถานะเดิม ส่วนที่บอกว่าทำไมไม่ส่งมอบรถ ผมก็บอกว่าให้เขาไปเอารถไป ก็เหมือนกับที่มาขอหลักทรัพย์คืน ผมก็บอกคืน เพราะว่าโมฆกรรมมันไม่ผูกพันกัน ผมตีความอย่างนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งที่ผมเรียนมา โมฆกรรมกับโมฆียกรรมแตกต่างกันแน่นอน ผมก็บอกไปแบบนี้ แล้วก็มาบอกว่าแล้วทำไมผมไม่แจ้งความ ซึ่งจริงๆ ผมก็ไปแจ้งความจนมีการออกหมายจับ


แต่เมื่อ ป.ป.ช.เขาบอกว่ามีมติแล้วที่จะฟ้องคดีเอง ผมก็เคารพ ต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่เมื่อผมร้องขอความเป็นธรรมไป เขาก็ควรจะลองพิจารณาดู เพราะในสถานะการเป็น ป.ป.ช. โดยหลักกฎหมายที่ผมยกขึ้นมา เป็นหลักกฎหมาย หลักการทำนิติกรรมพื้นๆ เช่นเรื่องเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะคนจะทำผิดอาญาต้องประกอบด้วยเจตนาก่อน เมื่อไม่ผิดอย่างนี้ คนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นต้องมีความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องกฎหมายแล้วไปใช้ดุลยพินิจ ผมคิดว่ามันจะไม่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะเชื่อถือระบบกระบวนการยุติธรรมในระบบการตรวจสอบของประเทศ ที่เสี่ยงต่อสถานะมาก


เชื่อว่าจะชี้แจงได้เคลียร์ เพราะพยานหลักฐานมันยิ่งชัดเจนขึ้นทุกวัน การที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 9 ออกหมายจับ และการที่ ป.ป.ช.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพวกฮั้วทั้งหมด มันชัดยิ่งกว่าชัดแล้วว่ามาถึงนาทีนี้ สิ่งที่ผมทำคือการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน 

นิพนธ์-รมช.มหาดไทย ย้ำว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้น ผมมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไม่ได้มีการทุจริต ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และทุกอย่างพร้อมจะชี้แจง และเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่ผมจะได้ชี้แจงเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ให้ประชาชนฟัง เพราะหลักฐานต่างๆ วันนี้ชัดเจนหมดแล้ว ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 9 มีการออกหมายจับ เพราะหากไม่มีมูลจริงคงไม่มีการออกหมายจับง่ายๆ 

เมื่อถามถึงว่า ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ นิพนธ์-รมช.มหาดไทย กล่าวตอบว่า เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ผมเข้าใจ ผมอยู่การเมืองมาสามสิบปีแล้ว อยู่ในสภามาร่วมแปดสมัย ผมก็พอเห็นอย่างนี้ตลอด เพราะฉะนั้นผมเคารพการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แต่ว่าผมไม่อยากให้เอาเรื่องนี้มากลั่นแกล้งหรือแก้แค้นกันในทางการเมือง จะไปน้อยใจว่าผมไปใช้อำนาจหน้าที่ไปเพิกถอนโฉนดของผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคตัวเอง ผมคิดว่าอันนี้ต้องฟังด้วยความเป็นธรรม เพราะหากไม่ผิด ไม่มีใครไปกลั่นแกล้งได้ ถ้าเราไม่ผิดอย่าไปกลัวว่าใครจะมากลั่นแกล้ง ไม่มีทางที่จะเอาเรื่องไม่จริงมากลั่นแกล้งกันทางการเมือง


หากจะมีการเปลี่ยนแปลงการเมือง 

หลังประชุมเอเปก เดือน พ.ย.


-ในทางการเมือง คนก็มองว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากปมเรื่องที่ดินที่ราชบุรี? (ที่ดินของ5ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ)


ผมก็อยากมองด้วยความเคารพ คือเรื่องที่ดินที่ราชบุรี มาจากกรมอื่น ที่อื่นเขาร้องมา เขาทำหนังสือมาที่กรมที่ดิน กรมก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะหากไม่ทำก็โดนข้อหาละเว้น แล้วก็มีการมานำชี้ มีการยืนยันว่าผิด ทำหนังสือไป เขาก็ยืนยันว่าผิด มีการไปลงพื้นที่ ใช้ระบบดาวเทียมไปรังวัด ที่รังวัดแล้วมันอยู่ในแนวเขตป่าถาวร หลักฐานมันชัดเจนอย่างนั้น เขาก็ทำรายงานมา แต่อำนาจการเพิกถอนเป็นของอธิบดี ไม่ได้เป็นของรัฐมนตรี แต่ว่าผมกำกับกรมที่ดิน ผมก็บอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


-คิดว่ารัฐบาลและตัวนายกฯ ก็น่าจะผ่านศึกนี้ไปได้?


ผมก็คิดว่าอย่างนั้น แต่ก็ต้องฟังเหตุฟังผล ไม่ใช่ถือว่ามีเสียงมากแล้วมั่นใจ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนอธิบายได้ เราทำงานร่วมกันมาสามปีกว่า ผมก็เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนก็ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ผมดูญัตติข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องเขียนญัตติแบบนั้น แต่ผมมองในมุมกลับ คือทุกคนไปมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือวิกฤตของผู้ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปราย แต่ผมมองว่ามันคือโอกาสอันดีของผู้ถูกอภิปรายในการได้ทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศพร้อมๆ กัน ผ่านสื่อต่างๆ และได้มีเวลาชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกล่าวหาต่างๆ ได้หมด ก็จะเป็นการใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจสร้างความเข้าใจกับประชาชน


“สิ่งนี้เป็นโอกาส ไม่ใช่เป็นวิกฤต โอกาสนี้ดีที่สุดแล้ว ไม่มีโอกาสไหนจะชี้แจงได้ดีเท่ากับโอกาสนี้ อย่างตัวผมเชื่อว่าจะชี้แจงได้เคลียร์ เพราะพยานหลักฐานมันยิ่งชัดเจนขึ้นทุกวัน การที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ออกหมายจับ และการที่ ป.ป.ช.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพวกฮั้วทั้งหมด มันชัดยิ่งกว่าชัดแล้วว่ามาถึงนาทีนี้ สิ่งที่ผมทำ คือการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน”

ส่วนเมื่อจบจากการอภิปรายแล้ว ผมก็คิดว่ารัฐบาลก็น่าจะอยู่จนถึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกเสร็จก็ช่วงเดือนพฤศจิกายน ผมก็มองว่าก็ต้องหลังเดือนพฤศจิกายน หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ว่าที่สุดแล้วก็ไม่เกินเดือนมีนาคมปีหน้า เพราะครบเทอมสภาสี่ปี.


โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น