โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ประชาธิปัตย์อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในสถานการณ์ยากลำบากกับการก้าวเดิน เพื่อกลับมารุ่งโรจน์

 

ประชาธิปัตย์อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในสถานการณ์ยากลำบากกับการก้าวเดิน เพื่อกลับมารุ่งโรจน์

                             



พรรคการเมืองมีรุ่งโรจน์ มีตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา พรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความรุ่งโรจน์ ผ่านความตกต่ำมาแล้ว 76 ปี

 ในขณะที่ประเทศไทยเราผ่านวาระ 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2475 พรรคประชาธิปัตย์พรรคเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำเนินการอยู่ก็ผ่านวาระ 76 ปีมาแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความเก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ถูกยกย่องว่าเป็นสถาบันทางการเมือง

 พรรคประชาธิปัตย์มีที่มาจากการตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับ(นายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร )ของนายควง อภัยวงค์ และคณะ อันมีพื้นฐานมาจากพรรคอนุรักษนิยม อันมีอุดมการณ์แน่ชัด “ต่อต้านเผด็จการ และการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการกระจายอำนาจ แม้วันนี้คณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส.ของพรรค สมาชิกพรรค จะพยายามสลัดคราบของอนุรักษนิยมไปเป็นพรรคเสรีนิยม แต่ความเป็นอนุรักษนิยมก็ยังติดตัวอยู่

      ยุคของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค จึงพยายามชู “อุดมการณ์ทันสมัย หรือนโยบาย ทำได้จริง ทำได้ไว เพื่อลบภาพเก่าของความเป็นพรรคอนุรักษนิยม และภาพเก่าที่ว่า “พูดเก่ง แต่ทำไม่เป็น”

 พรรคประชาธิปัตย์เคยรุ่งโรจน์และตกต่ำสลับกันมา เคยได้ ส.ส.เกินหลักร้อยและต่ำกว่าห้าสิบมาแล้ว สนาม กทม.เคยได้ ส.ส.เพียงคนเดียว คือ พอ.ถนัด คอมันต์ (2521)และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(2535/1)และในการเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.กรุงเทพมหานครเลย แม้แต่คนเดียว แต่ประชาธิปัตย์ก็มีฟุบมีฟื้นมาโดยตลอด แบบเรียกว่าเดี๋ยวฟุบเดี๋ยวฟื้น ตามกระแสทางการเมือง ในขณะนี้มี ส.ส.จำนวน 53 คน ตกลงจากการเลือกตั้งปี 2554 ที่มี ส.ส.ถึง 159 คน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน คือนายควง อภัยวงค์ หม่อมราชวงค์เสรีย์ ปราโมชย์ ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

      หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรค ไม่เหมือนพรรคการเมืองบางพรรคที่มีเจ้าของพรรค ก็จะชี้เอาว่า ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค

      ควง อภัยวงค์ คือหัวหน้าพรรคคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ต่อด้วยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชย์  พอ.ถนัด คอมันต์ พิชัย รัตตกุล ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมาถึงจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 

“ไม่ต้องพูดมาก ให้รัฐมนตรีของพรรคเร่งมือทำงานหนักเพื่อสร้างผลงาน เรียกศรัทธาคือมา” เป็นนโยบายของจุรินทร์ ที่มอบให้กับรัฐมนตรีทั้ง6คน เราจึงได้เห็นว่า รัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรคประชาธิปัตย์ก้มหน้าก้มตาทำงาน พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นผลงานของรัฐมนตรี จะไม่ค่อยเห็นรัฐมนตรีของพรรคออกมาตอบโต้ทางการเมือง ถ้าเป็นประเด็นทางการเมืองก็จะมอบหมายให้โฆษกพรรคเป็นคนชี้แจง ตอบโต้ และแก้ข่าว

      หลายคนวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริง “พรรคเก่าแก่ ไม่มีผลงาน ดีแต่พูด” ถ้าได้พิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้งก็จะเห็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย เพียงแต่นโยบายบางเรื่องยังทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม จึงไม่ง่ายในการผลักดันนโยบายบางเรื่อง

 

ถนนลงสู่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นถนนเพชรเกษม หรือถนนเอเชีย สมัยก่อนมีแค่สองช่องจราจร หรือขาขึ้น และขาล่อง ทำให้การจราจรคับคั่ง และบางช่วงก็ติดขัด แซงกันลำบาก เกิดอุบัติเหตุ สูญเสียมากมาย ถนนสี่ช่องจราจร ที่ลงสู่ภาคใต้จึงเริ่มขึ้นในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี รถไฟทางคู่ เริ่มสมัยชวนเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.และท้องถิ่น ยกฐานะสภาตำบลให้เป็น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) ทำสมัยประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล มีชวนเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 37 และฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. ทั่วประเทศ นายกเทศมนตรี และนายกฯ อบจ. เกิดขึ้นครั้งแรกปี2538

 

รวมถึงนมโรงเรียนให้เด็กกินมาถึงทุกวันนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา รวทถึงจัดให้ อสม.ได้รับค่าตอบแทน เป็นครั้งแรก รวมถึงการจัดที่ดินทำกินตามกฏหมาย สปก. เหล่านี้คือผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจจะไม่เห็นเป็นสะพาน เป็นถนน หรือสิ่งปลูกสร้างที่จับต้องได้

       ชวน หลีกภัย เสนอให้มีการสร้างถนนคู่ขนานลงใต้อีก 1 เส้นทาง จากกรุงเทพจนถึงนราธิวาส ข้อเสนอนี้ถึงมือของผู้บริหารกระทรวงคมนาคมแล้ว จะได้สร้างหรือไม่อยู่ที่กระทรวงคมนาคม ประชาธิปัตย์ไม่ได้บริหารกระทรวงคมนาคม หรือนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย กำลังชงไอเดีย สร้างถนนสายใหม่ จากสนามบินหาดใหญ่ ตรงไปยังทะเลสาปสงขลา เชื่อมต่อกับถนนรอบทะเลสาปสงขลา ใช้เวลาในการเดินทางเพียง 15 นาที อันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่บริเวณโดยรอบทะเลสาปสงขลา

 

ตอนนี้หากจะถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสฟื้นจากฟุบแบบในอดีตไหม คำตอบคือ มี แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมากมาย รัฐมนตรีของพรรคต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ชัด กรรมการบริหารพรรคต้องคิดค้นนโยบายใหม่ๆออกมาแก้ไขปัญหา อันเป็นนโยบายที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ ทำได้จริงตามสโลแกน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

ช่วง 2-4 ปีที่ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้เงื่อนไข ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ทำแล้ว ต้องมีนโยบายประกันรายได้ พรรคประชาธิปัตย์ทำแล้ว ถ้าพบทุจริต พรรคประชาธิปัตย์จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ทำ อาจจะยังไม่พบ ไม่เห็นการทุจริตของรัฐมนตรีในรัฐบาล

       ส่วนด้านผลงานได้เห็นความจริงจังของจุรินทร์ ในการผลักดันเรื่องการค้า การส่งออก ในฐานะรัฐมนตรีพาณิชย์ เดินทางไปเจรจาการค้า จนตัวเลขการส่งออกทะลุเป้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19

      เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ก็ผลักดัน แก้ปัญหาการส่งออกทุเรียน จนทะลุเป้า 5.5 หมื่นตัน เช่นเดียวกัน “เกษตรผลิต-พาณิชย์ขาย” ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในสถานการณ์ที่บีบคั้น

      นโยบายประกันรายได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาวสาวยางพารา ชาวไร่มันสัมปะหลัง ไร่ชาวโพด เป็นต้น มีผลิตผลการการเกษตรบางตัว ไม่ต้องใช้งบประมาณประกันรายได้ เนื่องจากราคาสูงกว่าราคากลาง เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย เป็นต้น

 

เดิมฐานของพรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่ในภาคใต้และกทม. และกระจัดกระจายอยู่ภาคเหนือ อิสาน ตะวันออก ภาคกลาง แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในภาคใต้น้อยลง ถูกพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย แย่งไปบางส่วน รวมถึงพรรคประชาชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ได้ที่นั่งในกทม.เลยแม้แต่ที่เดียว และจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเห็นว่าคนใต้เลือกพรรคการเมืองที่หลากหลายขึ้นไม่ได้ฝังใจกับพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวแบบในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์จะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งประชาชนก็เลือก จนกล่าวขานกันว่า ส่งเสาไฟฟ้าลงคนใต้ก็จะยังเลือก เพราะคนใต้ถูกฝังให้คิดว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค”

 

ต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ปัจจุบันกระแสนิยมของรัฐบาลกำลังตกต่ำทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเป็นผลผลมาจากโรคระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่กระทบไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย บางประเทศถึงขั้นล่มสลายก็มี แล้วยังมาถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีก ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ยากต่อการควบคุม แต่รัฐบาลพยายามประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปนัก แต่ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

      การบริหารประเทศในสถานการณ์ยากลำบาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการผลักดันนโยบาย ผลักดันผลงาน เพื่อเรียกศรัทธาคืนมา มีข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณ ทั้งการเป็นรัฐบาลผสม แต่ไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม และไม่เกินความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ ลองไปอ่านศึกษาข้อเสนอของนักการเมืองบางคน นักวิชาการ สื่อมวลชน แล้วนำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง

      พรรคประชาธิปัตย์ก็จะฟื้นกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกครั้ง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น