โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

นายหัวไทร..จับตามอง บุกรุกเขาแดง ทำลายเมืองเก่าสงขลา

 นายหัวไทร..จับตามอง  บุกรุกเขาแดง ทำลายเมืองเก่าสงขลา

…….


อ่านและติดตามข่าวกลุ่มทุน กลุ่มการเมืองบุกรุก #เขาแดง แหล่งโบราณสถานสถานเมืองเก่าสงขลา อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีการตัดต้นไม้ สร้างถนนขึ้นไปบนยอดเขาแล้วให้รู้สึกสะเทือนใจ เพราะนี้คือโบราณสถานแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา

       อ่านข่าวแล้ว ให้นึกถึง “ทวดหัวเขาแดง” เทพที่สถิตย์อยู่ตรงปากน้ำสงขลา ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสงขลา ช่วงปี 2518-2523 #นายหัวไทร จากหัวไทรไปเรียนที่สงขลาได้มีโอกาสนั่งรถจากนครศรีธรรมราชผ่านศาลาทวดหัวเขาแดงก่อนจะลงแพขนานยนต์ ไปยังฝั่งตัวเมืองสงขลา เห็นผู้โดยสารต่างยกมือไหว้ เราก็ยกมือไหว้ตามโดยไม่รู้ว่า คืออะไร

      ถ้านั่งแพขนานยนต์จากฝั่งตัวเมืองสงขลามายังฝั่งหัวเขาแดง ระหว่างนั่งแพขนานยนต์ข้ามทะเลสาบสงขลา ลมเย็นปะทะเข้าที่ใบหน้าให้ชื่นใจพร้อมเสียงประทัดจากเรือประมงดังแผดเสียงคำรามนับ 100 นัด อันเป็นการจุดประทัดถวายทวดหัวเขาแดงก่อนออกทำการประมงในทะเลอ่าวไทย เพื่อให้ทวดหัวเขาแดงคุ้มครองให้ปลอดภัย


ระหว่างนั่งแพขนานยนต์ เป็นบรรยากาศที่ชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เบื้องหน้าของแพขนาดยนต์ ถ้านั่งจากฝั่งตัวเมืองสงขลามายังฝั่งหัวเขาแดง จะปรากฏเป็นฉากวิวทิวทัศน์สวยงามตระการตา ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เป็นภาพของภูเขาขนาดใหญ่ ทอดตัวเป็นแนวยาว นั่นคือที่ตั้งของ "หัวเขาแดง" ตำนานเมืองเก่าของสงขลา ที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ามาอย่างยาวนาน เป็นตำนานถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น 


ตามหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองสงขลาหัวเขาแดงตั้งอยู่ตรงปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ก่อตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่น่าจะเกิดในยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา เพราะปรากฏชื่อ "เมืองสงขลา" ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พ.ศ.1893 เมืองสงขลามีฐานะเป็นเมืองประเทศราช อีกทั้งเมืองสงขลา ยังปรากฏอยู่ในเอกสารชาวต่างชาติ พวกพ่อค้าและนักเดินเรือ สงขลามีลักษณะเป็นเมืองท่า ที่มีนามว่า "ซิงกอร่า" คนพื้นเมืองเรียก "สิงขร" ที่แปลว่า "ภูเขา" สอดคล้องกับที่ตั้งเมืองสงขลาในอดีต ที่บางส่วนตั้งอยู่บนภูเขา พื้นที่บริเวณหัวเขาแดงมีลักษณะเป็นรูปคล้ายจระเข้ เป็นที่หมายของนักเดินทางในอดีต หัวเขาแดงตั้งอยู่ตรงปลายแหลมสุดของแหลมทรายสทิงพระ มีลักษณะทางกายภาพเป็นหินโคลนที่มีสีแดง จึงเรียกว่า "เขาแดง" และคำว่า "เขาแดง" ก็ยังปรากฏอยู่ในแผนที่เก่าสมัยอยุธยาอีกด้วย


"ทวดหัวเขาแดง" เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหัวเขาแดง คนท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นเทพที่สถิตอยู่ ณ หัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เชื่อว่าท่านจะคุ้มครอง ป้องกันรักษา และให้โชคแก่เมืองสงขลา ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการสร้างศาลาประดิษฐานทวดหัวเขาแดงไว้อย่างถาวร เป็นสถาปัตยกรรมจีน คล้ายศาลาเรียกว่า "ศาลาทวดหัวเขาแดง" ภายในศาลาแห่งนี้มีรูปจำลองแกะสลักของ "ทวดเขาแดง" และ "พระเอ็งบ้วนต๊ะ" เทพองค์สำคัญองค์หนึ่งของฝ่ายบุ๋น เป็นแม่ทัพที่ชาวจีนต่างนับถือมาก


ตามคำบอกเล่า..ช่วง พ.ศ. 2488 มีชาวไทยคนหนึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีนชื่อ "นางเผ็ก" ซึ่งนางเผ็กได้อันเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ องค์เล็กกลับมาด้วย 1 องค์ เพื่อช่วยคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสงขลา นางเผ็กก็ได้ทำการอันเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ มาประดิษฐาน ณ ศาลาทวดหัวเขาแดง ต่อมาพระเอ็งบ้วนต๊ะ ก็ได้อันตรธานหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ด้วยกาลเวลากว่า 100 กว่าปี ส่งผลให้ศาลาหัวเขาแดงชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก


ในปี พ.ศ. 2516 "นางเปีย ฮวดอุปัด" ได้ขออนุญาตบูรณะศาลเจ้า ต่อกรมศิลปากร พร้อมแบบแปลนสถาปัตยกรรมจีนแบบดั้งเดิม เมื่อครั้นเริ่มบูรณะ... "พระเอ็งบ้วนต๊ะ" ได้ประทับทรง และบอกให้ไปตามหาพระเอ็งบ้วนต๊ะองค์เล็กที่หายไปกลับมา และเป็นเรื่องที่น่าปาฏิหาริย์ เมื่อนางเปียตามหาองค์พระจนเจอ โดยได้คืนมาจากชาวจีน ที่ถนนเพชรคีรี ตำบลบ่อยาง ขณะที่บูรณะอยู่ ก็ได้มีชาวปีนังเดินทางมาหาดใหญ่ และได้นำพระเอ็งบ้วนต๊ะองค์ใหญ่ มาประดิษฐาน ณ ศาลาหรือศาลเจ้า หลังจากบูรณะศาลเจ้าเสร็จ นางเปียก็ได้สร้างรูปปั้นปูนปู่ทวดหัวเขาแดง เพื่อเอาไว้สักการะ


มีความเชื่อว่า "ปู่ทวดหัวเขาแดง" คอยคุ้มครองเมืองและประชาชนชาวสงขลาให้แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติ เช่น ปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพายุไต้ฝุ่นได้พัดเข้ามาที่ปากอ่าวสงขลา ปู่ทวดหัวเขาแดงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองสงขลา ได้ช่วยกันต้านทานและขจัดปัดเป่าไม่ให้พายุเข้าสู่เมืองสงขลาได้ โดยมีการสันนิษฐานว่าบริเวณใกล้ที่ตั้งของศาลแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นป้อมปราการมาก่อน


เมื่อแพเข้าจอดเทียบท่าบริเวณฝั่งหัวเขาแดง รถของเราค่อย ๆ เคลื่อนตัวผ่านบริเวณหน้าศาลทวดหัวเขาแดงอย่างช้า ๆ ผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและต่างถิ่นพร้อมใจกันบีบแตร เสียงดังลั่นไปทั่วบริเวณ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพต่อศาลเจ้าแห่งนี้ และทุก ๆ ปี จะมีงานเทศกาลยิ่งใหญ่ "สมโภชปู่ทวดพ่อหัวแดง" นั่นเอง


      เมื่อมีข่าวการบุกรุกเขาแดงของกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง ก็ได้แต่หวังว่า #ทวดหัวเขาแดง จะรับทราบ และช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษาเขาแดงให้แคล้วคลาดจากเงื้อมมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเขาแดงทั้งเขาถูกประกาศให้เป็นโบราณสถานทั้งเขา และทางจังหวัดสงขลากำลังเตรียมประมวลข้อมูลทั้งหมดเสนอให้เมืองเก่าสงขลาขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อยูเนสโก 

ขอให้ทวดหัวเขาแดงลงโทษกลุ่มผู้บุกรุกทำลายเมืองเก่าสงขลาด้วย

 #นายหัวไทร #เขาแดง #เมืองเก่าสงขลา

…….

ติดตามตอนต่อไป จะเขียนถึงโบราณสถานบนเขาแดง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น