โฆษณา

จำนวนผู้เข้าชม

วิเคราะห์ เจาะลึก มุมมองการเมือง พบกับนายหัวไทรนักข่าวหัวเห็ด จาก ปลายด้ามขวานชายแดนใต้

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“ปรากฏการณ์ตูน บอดี้แสลม” คือ “ของแสลง” BRN ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเรียนรู้

“ปรากฏการณ์ตูน บอดี้แสลม” คือ “ของแสลง” BRN ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเรียนรู้ 


 ไชยยงค์ มณีพิลึก




การวิ่งจากใต้สุดจรดเหนือสุดในโครงการ ก้าวคนละก้าวของนักร้องชื่อดัง ตูน บอดี้แสลมหรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย ที่เริ่มจาก อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อจะไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อที่จะหาเงินบริจาคจากประชาชนในการสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

ซึ่งได้รับการตอบรับจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง ล้นหลาม
โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดคือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ สีแดงเป็นพื้นที่ของ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตลอดระยะเวลา 13 ปีของการเกิดความรุนแรงระลอกใหม่มีคนตายจากความขัดแย้งแล้วกว่า 6,000 คน บาดเจ็บและพิการอีกหลายหมื่นคน

จนทำให้แผ่นดินปลายด้ามขวานเป็นพื้นที่ที่ คนภายนอกเข้าใจว่า เป็น เขตอันตรายที่หากหลีกเลี่ยงได้ พวกเขาก็จะไม่ เหยียบย่าง’” เข้ามาอย่างเด็ดขาด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิ่งก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้แสลม ในครั้งนี้ได้เกิด ปรากฏการณ์ใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแส ตูนฟีเวอร์เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่ตูนไว้วิ่งผ่าน โดยมีคนในพื้นที่เป็นจำนวนมากได้ออกมาร่วมวิ่ง ออกมาร่วมบริจาคเงิน และออกมาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น มีการถ่ายภาพ เซลฟี่กันอย่างมีความสุข

ซึ่ง ความสุขในลักษณะแบบนี้ได้ห่างหายจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคได้มานานถึง 13 ปีเต็ม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งจากภาครัฐและจากภาคเอกชน แทบไม่เคยที่จะได้รับการตอบรับแบบเป็น ธรรมชาติอย่างที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตูนวิ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจะเป็นการเกินเลยไปหน่อยกับการเปรียบเทียมของใครหลายคนที่เห็นว่า กิจกรรมของตูนในครั้งนี้ได้ทำให้ ไฟใต้ดับลงแล้ว หรือ ความสันติสุขมาเยือนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดกับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาแล้ว

แต่มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากการวิ่งของตูนในโครงการก้าวคนละก้าวคือ ตูนได้นำ เมล็ดพันธุ์อันดีงามเข้ามาบ่มเพาะในหัวใจของคนส่วนหนึ่งในพื้นที่แห่งความขัดแย้งแล้ว และก็กำลังงอกงามในหัวใจของคนจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะสร้าง สันติสุขและ ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอนาคต
เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่ตูนนำมาเพาะปลูกในหัวใจของคนปลายด้ามขวาน ที่เวลานี้กำลังงอกงามเติบโตเป็น ต้นกล้าพันธ์ที่ดีแล้วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะให้การการดูแลและรดน้ำพรวดดินอย่างไร

ดังนั้นจึงควรที่จะต้องมีการ ต่อยอดให้ต้นกล้าพันธุ์ดีนี้มีการเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ได้อย่างเป็นระบบ อย่าให้เป็นเพียง กระแสวูบไหวที่พอคล้อยหลังการวิ่งผ่านของตูนไปเพียงไม่กี่วัน ทุกอย่างก็ค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลาที่ผันผ่าน
กระแสฟีเวอร์จากปรากฏการณ์ตูน บอดี้แสลม นอกจากจะทำให้เยาวชนมุสลิมทั้งชาย-หญิงที่ได้เคยห่างหายจากการร่วมกิจกรรมในลักษณะของ พหุวัฒนธรรมไปนานมากแล้ว เวลานี้พวกเขาได้เดินกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมกับตูนด้วยความเต็มออกเต็มใจกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมพหุวัฒนธรรมครั้งนี้แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้เห็นปรากฏการณ์ของ กลุ่มสุดโต่งที่ยังคงพยายามสร้าง วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียโจมตีและประณามผู้ที่เป็นมุสลิม โดยเฉพาะเยาวชนทั้งชายและหญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมกับตูนในครั้งนี้ว่า เป็นการกระทำ ผิดหลักการศาสนาทั้งในเรื่องการ บริจาคและเรื่องการ เซลฟี่ถ่ายรูปกับตูนอย่างถึงพริกถึงขิง

นั่นแสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯและกลุ่มสุดโต่งต่างๆ ยังพยายามที่จะใช้เรื่องศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของคนมุสลิมมาเป็นเครื่องมือข่มขู่ผู้ที่หวาดกลัว ผู้ที่เข้าใจในเรื่องศาสนาแบบไม่ถึงแก่นแท้ เพื่อไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบพหุวัฒนธรรม อันเป็นการอยู่ร่วมของคนทุกศาสนาในพื้นที่เดียวกัน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงยังสามารถชี้ชัดให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯ และบรรดากลุ่มสุดโต่งต่างๆ ยังคงใช้เรื่องของ ศาสนาเป็น เครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับขบวนการ
การที่มีคนออกมากล่าวอ้างว่า การที่ทำให้คนมุสลิมหนุ่ม-สาวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาร่วมกิจกรรมก้าวคนละก้าวกับตูน บอดี้แสลม ได้จำนวนมากในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในงานด้านมวลชนของขบวนการ เรื่องนี้ถือเป็นการบิดเบือนแน่นอน

เพราะเยาวชนคนมุสลิมหนุ่ม-สาวที่ออกมาร่วมกิจกรรมกับก้าวคนละก้าวกับตูน คือกลุ่มมวลชนคนละกลุ่ม กับที่เป็น มวลชนจัดตั้งของบีอาร์เอ็นฯ

เพียงแต่ที่บีอาร์เอ็นฯ ออกมาทำการข่มขู่และโจมตีกลุ่มเยาวชนหนุ่ม-สาวมุสลิมที่ออกมากิจกรรมกับตูน เหตุผลสำคัญเพราะบีอาร์เอ็นฯ หวาดวิตกและหวั่นไหวว่า หากให้กิจกรรมที่ได้รับการตอบรับจากมุสลิมหนุ่ม-สาวเกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่อง อาจจะทำให้บีอาร์เอ็นฯ สูญเสียมวลชนได้ แถมการสร้างมวลชนรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการทำได้ยากขึ้น

ดังนั้นถ้าจะเขียนให้ตรงประเด็นต้องเป็นดังนี้คือ กิจกรรมก้าวคนละก้าวที่ทำโดยตูน บอดี้แสลม ถือเป็น ของแสลงที่บีอาร์เอ็นฯ และกลุ่มสุดโต่งในพื้นที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะเป็นการขัดขวางนโยบายสังคมเชิงเดี่ยว  โดยเฉพาะกับ นโยบาย 5 ไม่ที่บีอาร์เอ็นฯ  ใช้ในการปลูกระดมคนมุสลิมในพื้นที่ไม่ให้ร่วมสังฆกรรมกับคนต่างศาสนา
ซึ่งหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำเอาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้แสลม มาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีหลายต่อหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหลายปีมานี้

อย่างในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เราจะได้เห็นเยาวชนมุสลิมที่เป็น สตรีกว่า 80%  ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา และพยายามขวนขวายในการเล่าเรียนอย่างลำบากอยากเย็นเพื่ออนาคตนั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกเรื่องราวอะไรมากมายอันเป็นแนวทางของการ ดับไฟใต้

หรืออย่างการที่เยาวชนมุสลิมชายในพื้นที่ไม่เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย นั่นเป็นเพราะเหตุใด และคนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็เป็นผลต่อการดับไฟใต้ที่ควรต้องหาคำตอบที่ชัดเจนให้ได้

หลายปีที่ผ่านมายังมีอีกหลายต่อหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อันก่อทั้งคุณประโยชน์และเป็นโทษต่อการดับไฟใต้ เช่น เกิดอะไรขึ้นที่ในวันนี้กลับมีการสื่อสารกันด้วยภาษาไทยมากขึ้น แม้แต่ชื่อของห้างร้านหรือกิจการการค้าต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงนิยมที่จะเขียนภาษาไทยตัวโตๆ และภาษายาวีตัวเล็กๆ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ 90% ที่เป็นลูกค้าคือมุสลิม

จึงอยากให้ปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าวของผู้ชายที่ชื่อ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้แสลม ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ จงอย่าได้สูญเปล่า หรือกลายเป็นกระแสที่ผ่านแล้วผ่านไปเหมือกับสายน้ำไหล

แต่อยากจะให้มีการรักษา เมล็ดพันธุ์ความดีที่หว่านเพาะโดย ตูน บอดี้แสลม ได้เติบโตเป็น ต้นกล้าความดีต้นแรก เพื่อที่จะแพร่ขยายไปสู่หัวใจของคนทุกคน

โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่ชูเรื่อง พหุวัฒนธรรมเพื่อใช้ต่อสู้กับนโยบายสังคมเชิงเดี่ยวของบีอาร์เอ็นฯ ต้องนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไปสังเคราะห์ต่อยอดเป็น บทเรียนเพื่อที่จะให้ได้เข้าใจว่า พหุวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นด้วยมือหน่วยงานรัฐเท่านั้น เป็นเรื่องที่พันผูกอยู่ในวิถีชีวิตผู้คน อันเกิดขึ้นจากความรัก ความศรัทธาและความจริงใจนั่นเองการณ์ตูน บอดี้แสลมคือ ของแสลง” BRN ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเรียนรู้ /

ขอบคุณ ไชยยงค์ มณีพิลึก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น