ยะลา ชาวสวนทุเรียนรวมกลุ่มแปรรูปทุเรียนทอด ส่งขายมาเลเซีย
สร้างรายได้เดือนละเกือบ 4 แสนบาท ในขณะที่ปีนี้ปีประสบปัญหา ทุเรียนไม่พอผลิต
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ที่กลุ่มแปรรูปทุเรียนทอด(กะป๊ะ-บังยี) ถนน สาย 15 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา บรรดาสมาชิกของกลุ่ม ได้ร่วมกันนำทุเรียน
ที่รับมาจากชาวสวนในพื้นที่ มาปอกเปือก เพื่อเตรียมแปรรูปเป็นทุเรียนทอด
ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวิธีการแปรรูป ก็จะนำทุเรียนที่ปอกเปลือกแล้ว
เข้าเครื่องสไลด์เป็นแผ่นบางๆ ก่อนจะนำไปทอดจนกรอบ แล้วบรรจุใส่ถุงจำหน่ายหลายราคา
รวมทั้งยังมีหลายรสชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็น รสดั้งเดิม รสสาหร่าย รสต้มยำ
และรสปาปริก้า โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 79 บาท
นางสาวโซเฟีย เจะหวังสวา หัวหน้าฝ่ายการตลาด
กลุ่มแปรรูปทุเรียนทอด(กะป๊ะ-บังยี) เปิดเผยว่า
จากเดิมทางกลุ่มได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกทุเรียน และในช่วงปี 2547 ผลผลิตทุเรียนล้นตลาด ราคาทุเรียนก็ตกต่ำ
ทางกลุ่มก็ได้ร่วมกันคิดว่า จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้อย่างไร
ก็เริ่มทดลองทำทุเรียนทอด รับประทานกันเอง
จากนั้นก็มีการพัฒนาสูตรกันเรื่อยๆ
จนกระทั่งเริ่มให้เพื่อนบ้าน ญาติมิตร
ทดลองชิมกันดู ทุกคนก็ชื่นชอบในรสชาติ จึงได้มีความคิดว่า
จะทำเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของทางกลุ่ม ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มแปรรูปทุเรียนทอด
ขึ้นมาเมื่อปี 2554 โดยมีสมาชิกเกือบ 20 คน และทุเรียนที่นำมาแปรรูปก็จะเป็นทุเรียนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา
ซึ่งทุเรียนที่ทางกลุ่มนำมาแปรรูปจะเป็นทุเรียนหมอนทอง ขนาดจัมโบ้
นอกจากนั้นก็ยังส่งทุเรียนเป็นลูกไปประเทศมาเลเซีย รวมทั้งตลาดไท
“ในปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้นำทุเรียนมาแปรรูปได้มากถึง 200 ตัน ซึ่งจะได้เนื้อทุเรียนประมาณ 20 ตัน
ซึ่งเพียงพอกับการจำหน่ายตลอดทั้งปี สำหรับตลาดในไทย
กำลังการผลิตส่งจำหน่ายเพียงพอ แต่ถ้าเป็นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน
ที่เข้ามาติดต่อ จะเป็นตัวแทนนำไปจำหน่ายในจีน ซึ่งทางประเทศจีนต้องการมาก
แต่ทุเรียนของที่นี่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของจีน
ทุกวันนี้ก็ทำได้เพียงส่งขายในประเทศ และมาเลเซีย” นางสาวโซเฟีย
เจะหวังสวา กล่าว
นางสาวโซเฟีย ยังกล่าวอีกว่า สำหรับรสชาติทุเรียนทอด ของทางกลุ่ม
ถ้าเทียบกับทางจันทบุรี หรือทางชุมพร ที่มีทุเรียนทอดเหมือนกัน จะพบว่า ทุเรียนทอดของทางกลุ่ม
จะมีรสชาติที่หวานหอมกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากทุเรียนในพื้นที่
จะเป็นทุเรียนที่ปลูกกันตามธรรมชาติ ซึ่งจะต่างจากที่อื่นที่มีการปลูก
และใช้สารเคมีในการบำรุงต้น รสชาติของทุเรียนก็จะต่างกัน
ส่วนเรื่องรายได้ของทางกลุ่มนั้น ก็จะมีการแบ่งเงินปันผลกัน โดยปกติรายได้ของทางกลุ่มจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 350,000 ถึง400,000 บาท แต่ในปีนี้จะมีปัญหาในเรื่องของทุเรียนมีไม่เพียงพอต่อการผลิต
จากเดิมจะใช้ทุเรียนปีละ 200 ตัน
แต่คาดว่าปีนี้น่าจะเหลือเพียง 40-50 ตันเท่านั้น
ซึ่งเป็นปัญหาจากก่อนหน้านี้มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง
และทุกเรียนในพื้นที่ส่วนมากจะปลูกกันตามธรรมชาติ
ไม่ได้ดูแลเหมือนกับการปลูกทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตน้อย
ส่วนปัญหาค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย
ที่ลดต่ำลงก็ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าไปจำหน่ายในมาเลเซียเหมือนกัน
เดิมทางมาเลเซียจะสั่งสำรองสินค้าไว้ แต่ปัจจุบันก็สำรองสินค้าก็ลดน้อยลง
จากปัญหาค่าเงิน
ขอบคุณ มูกะตา หะไร ยะลา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น